หลังจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ได้วิจัยเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตทุเรียนหลงลับแลและหลินลับแล จนประสบความสำเร็จ ครั้งนี้จึงหันหน้าพัฒนา "ลางสาด" ผลไม้อัตลักษณ์อีกหนึ่งชนิดของ จ.อุตรดิตถ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าลางสาดและผลิตภัณฑ์จากลางสาดให้สูงขึ้น
นางปิยวรรณ ปาลาศ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ หัวหน้าโครงการวิจัยกระบวนการวิจัยเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วยผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของจังหวัดอุตรดิตถ์สู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์ ระบุว่า จ.อุตรดิตถ์เป็นจังหวัดที่มีเกษตรกรจำนวนมากปลูกลางสาดบนพื้นที่ที่มากที่สุดในประเทศ แต่ช่วง 2 ปีก่อนหน้า ลางสาดมีราคาตกต่ำมากที่สุด คือ เกษตรกรขายได้เพียงกิโลกรัมละ 5-8 บาท ในขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ราคากิโลกรัมและ 22 บาท เกษตรกรจำนวนมาก กำลังทิ้งสวน บางส่วนตัดยอดไปเสียบลองกองแทน เรียกว่า เกษตรกรกำลังขาดแรงจูงใจในการจัดการสวน ผลตอบแทนไม่คุ้มกับที่ลงทุน ขณะเดียวกันเกษตรกรไม่ได้คิดหรือคำนวณราคาหรือต้นทุนดังกล่าว หรือขาดการใช้องค์ความรู้ในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการไม่เห็นคุณค่าที่จะนำมาสู่คุณค่าของลางสาด ท้ายสุดจึงไม่เป็นที่นิยมและทำให้เด็กรุ่นใหม่ๆ เริ่มไม่รู้จักลางสาด
นางปิยวรรณ กล่าวว่า สิ่งที่ทำ คือ เน้นการจัดการผลผลิตให้ได้คุณภาพ มีลักษณะตรงตามความต้องการของผู้บริโภค สร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ลางสาด นอกจากการขายผลสด และทำการค้ากับตลาดเฉพาะที่มีความต้องการสินค้าพรีเมียม โดยการจัดการกับระบบการผลิตคุณภาพที่ต้นทาง เพื่อให้ได้ลางสาดรสชาติหวาน ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย ด้วยระบบ PGS Organic การพัฒนาผลิตภัณฑ์ลางสาดมูลค่าสูงที่เป็นทั้ง Food และ Non-food การสร้าง Branding การสื่อสารทางด้านการตลาด และการศึกษาช่องทางตลาดจากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในป่าวนเกษตร
นางปิยวรรณ กล่าวว่า ในเรื่องของการเพิ่มมูลค่าของลางสาด ด้วยการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยได้ดึงศาสตร์ต่างๆ ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยและภูมิปัญญาชุมชนมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้ง น้ำลางสาด สเลอปี้ลางสาด ที่มีคุณค่าทางอาหาร ให้วิตามินซีสูง ตลอดจนการมีสารต้านอนุมูลอิสระทำให้เกิดผลิตภัณฑ์บำรุงผิวทั้ง ซีรั่ม โลชั่น สบู่ และถ่านสปา จากลางสาดทั้งเปลือก เนื้อ ผล และเมล็ด ทำให้เกิดการกระจายรายได้ให้คนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 9.75 ล้านบาท จากการขายเฟรนไชส์ และผู้ประกอบการเครื่องสำอางออร์แกนิกส์ที่สนใจนำไปเป็นสารตั้งต้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีการสร้างเรื่องราวจากการออกแบบผลิตภัณฑ์ สร้าง Branding ที่มี Key success จากบริษัท ยินดีดีไซน์ มาช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมวิจัย และพื้นที่จนเกิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคจำนวนมากให้ความสนใจ
"ที่สำคัญโครงการยังสามารถสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ลางสาด จนเกิดการจัดตั้งชมรมคนรักลางสาดขึ้น มีระบบและกลไกของกลุ่มในการควบคุมมาตรฐานการผลิตลางสาดคุณภาพของเกษตรกรเพื่อที่จะส่งให้ร้านเลม่อนฟาร์ม (Lemon farm) โดยที่มีผู้ประกอบการ Farmer shop ในการรับและกระจายสินค้า ภายหลังจากดำเนินโครงการ ทำให้ราคาลางสาดสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 8 บาทในปี 2560 เป็นกิโลกรัมละ 20 บาท จากการผลิตลางสาดคุณภาพด้วยองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แสดงให้เห็นถึงการสร้างรายได้ของลางสาดเพิ่มขึ้นถึง 150% และในปี 2561 ทางร้านเลมอนฟาร์ม ยังสั่งซื้อลางสาดของอุตรดิตถ์ มากกว่า 20 ตัน เมื่อคิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1.1 ล้านบาท" นางปิยวรรณ กล่าว
นางปิยวรรณ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการสานประโยชน์จากการสื่อสารด้านการตลาด โดยใช้กลไกวารสารของร้านเลม่อนฟาร์มในการที่จะโฆษณาให้คนหันมาบริโภคลางสาด ช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ ไม่ใช่แค่ซื้อเพราะว่าอยากลองทานลางสาดอุตรดิตถ์ท่านั้น แต่ว่าอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมกันอนุรักษ์ป่าด้วย ซึ่งทั้งจากรายได้ที่เป็นตัวเลขให้กับชุมชนท้องถิ่นแล้ว เมื่อเรามองในเรื่องของคุณค่าที่เกิดขึ้นตามมาคือเราสามารถร่วมกันอนุรักษ์พื้นที่ป่าในระบบวนเกษตรที่มีลางสาดอยู่ถึง 556 ไร่ ด้วยวิถีการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าได้อย่างยั่งยืนต่อไป