xs
xsm
sm
md
lg

ห้องเรียนอนุบาลในอีก 10 ปีข้างหน้า (2) /สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ตอนที่ 2 ของการนำงานวิจัยของตัวเองในระดับปริญญาเอก สาขาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “การบริหารจัดการสื่อดิจิทัลเพื่อเด็กปฐมวัย” มาสกัดเป็นภาษาง่าย ๆ กระชับ และสรุป เพื่อเผยแพร่เป็นตอน ๆ เพราะเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อวงการการศึกษาปฐมวัย และผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องปฐมวัย โดยเฉพาะในอีก 10 ปีข้างหน้า

หลังจากที่เก็บข้อมูลแบบได้ที่ หรือภาษางานวิจัยก็คือการค้นคว้า รวบรวมหลักการแนวคิด ทฤษฎี เอกสาร และงานวิจัยต่าง ๆ ตลอดจนผลงานของนักวิชาการท่านอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเขียน Literature Review หรือภาษาวิชาการเรียกเสียหรูว่า “การทบทวนวรรณกรรม” ดิฉันก็เริ่มงานวิจัยด้วยเครื่องมือแรกคือวิจัยอนาคตภาพด้วยเทคนิค Ethnographic Delphi Future Research (EDFR) คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญแบบเจาะจงจำนวน 17 คน เพื่อสัมภาษณ์ สังเคราะห์ข้อมูล จากนั้นให้ผู้เชี่ยวชาญยืนยันด้วยการตอบแบบสอบถาม เพื่อดำเนินการศึกษาอนาคตภาพในการบริหารจัดการสื่อดิจิทัลเพื่อเด็กปฐมวัย

การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ 17 คน เป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ใช่สัมภาษณ์ใครก็ได้ แต่ต้องสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยเรื่อง “การบริหารจัดการสื่อดิจิทัลเพื่อเด็กปฐมวัย” เท่านั้น

ดิฉันใช้วิธีเลือกการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย หรือ Stakeholder Analysis เพื่อการกำหนดหลักเกณฑ์เชิงคุณภาพอย่างเฉพาะเจาะจง มาคัดเลือกผู้ให้ข้อมูล และใช้การกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างตามแนวคิดของแมคมิลแลนด์ ซึ่งได้ศึกษาและเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับจำนวนผู้ให้ข้อมูลในการวิจัยตามเทคนิคเดลฟาย หรือ Delphi Technique เทคนิคนี้คืออะไรไว้ค่อยมาว่ากันภายหลังอีกที

จนกระทั่งสามารถกำหนดผู้ให้ข้อมูล ทั้งหมด 17 คน ประกอบด้วย 5 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มแรก – ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานระดับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเด็กปฐมวัยของประเทศจำนวน 3 คน

กลุ่มที่สอง – ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษาและนักวิชาการสำหรับเด็กปฐมวัยจำนวน 5 คน

กลุ่มที่สาม – ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนักวิชาการด้านสื่อ จำนวน 3 คน

กลุ่มที่สี่ – ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มผู้ปฏิบัติ หรือครูผู้ใช้สื่อสำหรับเด็กปฐมวัยจำนวน 3 คน

กลุ่มที่ห้า - ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มผู้ผลิตสื่อสำหรับเด็กปฐมวัยในองค์กรเอกชนจำนวน 3 คน

จนกระทั่งสุดท้ายทั้ง 17 คน ประกอบด้วย ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา, คุณทิพย์สุดา สุเมธเสนีย์, รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี, ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล, ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์, คุณวสันต์ ภัยหลีกลี้, รศ.ดร.พัชรี ผลโยธิน, ดร.วรนาท รักสกุลไทย, รศ.ดร.จิตตินันท์ เดชะคุปต์, รศ.รพินทร ณ ถลาง คงสมบูรณ์, คุณเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป, คุณธรวรรณ ประมวลศิลป์ชัย, คุณริสรวล อร่ามเจริญ, คุณชัยฤทธิ์ ศรีโรจน์ฤทธิ์, คุณธนชัย สุนทรเวช, คุณพรพวรรณ นาคผา และคุณปัณณธร ใสแสง

ดิฉันโชคดีที่ได้รับความอนุเคราะห์และเมตตาจากผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการการศึกษา สื่อสารมวลชน รวมถึงเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ทำงานและมากประสบการณ์ทั้ง 17 คน มาช่วยทำให้งานวิจัยชิ้นนี้เกิดประโยชน์อย่างมาก

ความพิเศษของการใช้เทคนิค EDFR คือ ระหว่างที่เดินสายสัมภาษณ์ ดิฉันไม่สามารถบอกใครได้ว่าดิฉันสัมภาษณ์ใครบ้าง ผู้ให้สัมภาษณ์ต่างคนต่างไม่รู้กัน ไม่รู้ว่าสัมภาษณ์ใคร คำถามอะไร ทำให้ทุกคนมีอิสระในการตอบ จะเรียกว่านี่เป็นต้นฉบับครั้งแรกที่เปิดเผยรายชื่อผู้เชี่ยวชาญทั้ง 17 คน ก็ว่าได้ และแน่นอนว่า ล้วนแล้วเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณภาพทุกคน

ดิฉันสนุกมากกับการได้ไปสัมภาษณ์ทั้ง 17 คน ด้วยคำถามปลายเปิดที่ว่า อนาคตภาพในการบริหารจัดการสื่อดิจิทัลเพื่อเด็กปฐมวัยเป็นอย่างไร

ระหว่างการสัมภาษณ์ เป็นช่วงเวลาของการเก็บข้อมูล เพราะเหมือนได้จินตนาการไปในอนาคต 10 ปีข้างหน้าตามไปด้วยว่าการบริหารจัดการสื่อดิจิทัลเพื่อเด็กปฐมวัยจะเป็นอย่างไรหนอ

อ้อ ดิฉันนิยามศัพท์เฉพาะในงานวิจัยชิ้นนี้สำหรับเด็กปฐมวัยอยู่ที่ช่วงอายุ 3-6 ปี นั่นหมายถึง ระดับชั้นอนุบาลนั่นเอง
ด้วยคำถามที่เป็นปลายเปิด การจินตนาการในอีก 10 ปีข้างหน้าเป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ภาพไว้น่าสนใจทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดิฉันประทับใจมากก็คือ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ที่แม้ท่านจะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ด้วยความคิดที่ทันสมัยและวิสัยทัศน์ที่ทันสถานการณ์ ผนวกกับประสบการณ์การเป็นคุณยายของหลานที่อยู่ช่วงปฐมวัยพอดี ทำให้ข้อมูลที่ได้จากการคาดการณ์ทันต่อโลกอนาคต ซึ่งเกิดประโยชน์อย่างมากต่องานวิจัย

อีกหนึ่งคำถามที่ดิฉันสนใจมากคือ ในอีก 10 ปีข้างหน้าห้องเรียนอนุบาลจะมีหน้าตาอย่างไร

คำตอบที่มีความหลากหลายของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 17 คน สร้างจินตนาการได้ไม่น้อยทีเดียว
...อาจไม่จำเป็นต้องมีห้องเรียน
...อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ ไม่จำเป็นต้องไปโรงเรียน
...วิธีการเรียนรู้เปลี่ยนไปแน่นอน เด็กสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่
…น่าจะเป็นห้องโล่ง ๆ แต่มีเครื่องมือเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ประเด็นที่สนใจ
...เด็กอาจจะมีแทบเล็ตคนละจอ
...อาจมีจอใหญ่ในห้องเรียนเพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอน
ฯลฯ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น คำตอบมีความหลากหลาย แต่ทุกคนเห็นสอดคล้องกันว่าเราไม่สามารถปฏิเสธเทคโนโลยีได้ และครูก็ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างแน่นอน ประเด็นก็คือ จะนำมาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษ และเป็นการปลูกฝังเรื่องการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับเด็กได้ด้วย

จากนั้นก็นำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ให้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เกี่ยวกับอนาคตภาพในการบริหารจัดการสื่อดิจิทัลเพื่อเด็กปฐมวัย เพื่อพัฒนาเป็นแบบสอบถาม โดยเพิ่มเติมข้อมูลค่าทางสถิติเข้าไปในแต่ละข้อคำถาม แล้วส่งให้ผู้เชี่ยวชาญทำการประเมินอีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นการยืนยันคำตอบ โดยจัดทำเป็นแบบประเมินค่า 5 ระดับ (5 rating scale) ในกรณีที่ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญแล้วพบว่า ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน จะดำเนินการเก็บข้อมูลในรอบที่ 2 และ 3 ต่อไป

ประเด็นคือ ข้อมูลที่ได้ เมื่อนำมาทำเป็นแบบสอบถามเพื่อยืนยันคำตอบในรอบแรกก็พบว่ามีความสอดคล้องกัน และมีฉันทามติ จึงทำให้ขั้นตอนนี้ผ่านไปได้ด้วยดี
ไว้ครั้งหน้าจะลงรายละเอียดเรื่องผลสรุปของการเก็บข้อมูลชุดแรกค่ะ

ติดตามตอนที่ 3 ผลสรุปของการเก็บข้อมูลชุดแรก


กำลังโหลดความคิดเห็น