xs
xsm
sm
md
lg

ในวันที่เพื่อนเราชื่อ “โรคสะเก็ดเงิน”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

วันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็น “วันสะเก็ดเงินโลก” ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดขึ้น เพื่อรณรงค์ให้สังคมเข้าใจว่า โรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ แม้จะรักษาไม่หายขาด โดยปี 2561 นี้ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ได้รณรงค์ในแคมเปญ “หยุดตีตรา ผู้ป่วยสะเก็ดเงิน”

สาเหตุของการตีตรามาจาก ลักษณะของโรคที่อาจดูไม่น่ามอง คือ เป็นผื่นแดง นูน ขอบเขตชัดเจน จะมีขุยสีขาวหรือเกล็ดสีเงินปกคลุมอยู่ บางรายเป็นตุ่มหนอง กระจายทั่วร่างกาย ใบหน้า หนังศีรษะ และมีเล็บผิดปกติร่วมด้วย ซึ่งผื่นอาจมีอาการคันและสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ทำให้คนรอบข้างอาจแสดงสีหน้าท่าทางที่ไม่เป็นมิตรกับผู้ป่วย สุดท้ายกลายเป็นพฤติกรรมรังเกียจ ทั้งที่โรคนี้ไม่ได้ติดต่อสู่ผู้อื่นเลย ส่งผลให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจในการดำเนินชีวิต จนหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม

นพ.เวสารัช เวสสโกวิท ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคอย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น พันธุกรรม โดยพบว่าหากมีพ่อและแม่เป็นโรคสะเก็ดเงิน ลูกจะมีโอกาสเป็นถึง 41% หากพ่อหรือแม่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งที่เป็น ลูกจะมีโอกาสเป็น 14% รวมไปถึงความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และปัจจัยกระตุ้นภายนอก ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังส่วนนั้นแบ่งตัวเร็วกว่าปกติร่วมกับเกิดการอักเสบจึงเกิดเป็นปื้น (Plaque) หรือเป็นแผ่นหนา แดง คัน และตกสะเก็ด ซึ่งมีอาการตั้งแต่น้อยไปจนถึงมาก โดยอาการแรกเริ่มอาจเป็นแค่ผื่นเหมือนรังแคบนหนังศีรษะ ใบหน้า ข้างจมูก ศอก เข่า ซึ่งโรคจะมีอาการเห่อเป็นพักๆ ถ้าหากเห่อมากอาจขึ้นทั่วทั้งตัวได้

“โรคสะเก็ดเงินแม้เวลากำเริบจะดูน่ากลัว แต่เมื่อรักษาจนสามารถควบคุมโรคได้ ผิวหนังก็จะกลับมาเป็นปกติ แต่ที่น่ากังวล คือ หากโรคสะเก็ดเงินมีอาการเข้าข้อ ทำให้เกิดอาการปวดข้อ จนถึงเกิดความพิการของข้อตามมาได้ ตรงนี้ถือเป็นภัยเงียบที่อันตรายและแฝงมาด้วย อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า สาเหตุของการเกิดโรคนั้นเกิดจากร่างกายของตัวผู้ป่วยเอง ไม่ได้เกิดจากการติดต่อแต่อย่างใด จึงอยากให้สังคมเข้าใจผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินและไม่ตีตราผู้ป่วย เพราะความเครียดเป็นหนึ่งในสิ่งกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบขึ้นมาได้” นพ.เวสารัช กล่าว

นอกจากการลดการตีตราจากคนในสังคม สิ่งสำคัญอีกเรื่องที่ขาดไม่ได้คือ ผู้ป่วยต้องไม่ตีตราตนเองด้วย นายศุภชัย มโนการ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี กรมชลประทาน ในฐานะผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งปกติก็ไม่ได้บอกบุคคลรอบข้างว่าป่วยด้วยโรคนี้ แต่ก็พร้อมเปิดเผยให้ข้อมูลเพื่อเป็นวิทยาทานแก่คนทั่วไป ได้แนะนำว่า ให้มองว่าโรคสะเก็ดเงินนี้เป็นเพื่อนคนหนึ่งที่เข้ามาในชีวิตของเรา และเราจะต้องอยู่ร่วมกันให้ได้อย่างดีที่สุด

นายศุภชัย เล่าว่า ตนเองทราบมาตั้งแต่อายุประมาณ 20-21 ปี ว่าเป็นโรคสะเก็ดเงิน และมีการดูแลรักษาอย่างดีมาตลอด ซึ่งอาการทางผิวหนังจะไม่ค่อยปรากฏมากเท่าไร เพราะมีการดูแลอย่างดี แต่ผลกระทบรุนแรงที่เกิดขึ้น คือ โรคสะเก็ดเงินเข้าข้อ ซึ่งไม่รู้ตัวมาก่อน เพราะไม่ได้มีการวินิจฉัยในเรื่องนี้ ส่งผลให้ช่วงหนึ่งตนได้รับความทรมานจากอาการปวดข้อ ซึ่งในตอนกลางวันก็มักจะปกติ แต่พอตกกลางคืนก็จะปวดมาก เพียงแค่ก้าวเดินก็ปวดแล้ว แม้แต่จะล้มตัวลงนอนก็ปวด จนในที่สุดจึงมาวินิจฉัยพบว่าเกิดจากโรคสะเก็ดเงิน จึงรักษาจนสามารถควบคุมโรคได้ในที่สุด แม้ที่ผ่านมาจะเคยไม่มั่นใจในการรักษาบ้าง เพราะเปลี่ยนแพทย์มาถึง 5 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ทราบว่าอาการปวดข้อมาจากอะไร จนกระทั่งแพทย์คนที่ 6 จึงทราบว่าเกิดจากโรคสะเก็ดเงินที่แทรกเข้าข้อ แต่อาการทางผิวหนังปกติมาก

“ความโชคดีของผม คือ ไม่ได้รับการแสดงออกว่ารังเกียจในการเป็นโรค อาจเพราะผมรู้ดีว่าโรคนี้ไม่ติดต่อ และควบคุมอาการของโรคได้ดี ทำให้ไม่มีการแสดงอาการทางผิวหนัง คนส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบว่าผมเป็นโรคนี้ เพราะผมไม่เคยบอก จึงอยากฝากบอกกับทุกคนว่า อย่ารังเกียจผู้ป่วยโรคนี้ เพราะผู้ป่วยหลายคนได้รับความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจมาพอแล้ว อย่าไปซ้ำเติมเขาอีกเลย ส่วนตัวผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินคนอื่นๆ เอง ก็อย่ารังเกียจโรคนี้ แต่อยากให้ทำใจและอยู่กับเขาให้ได้ดีที่สุด คิดว่าเขาเป็นเพื่อนเรา ซึ่งแรกๆ อาจจะทำใจได้ยาก แต่อยู่ที่เราเปลี่ยนความคิด ซึ่งไม่เฉพาะโรคสะเก็ดเงินเท่านั้น ยังรวมถึงโรคเรื้อรังอื่นๆ ทุกโรคด้วย ไม่ว่าจะเป็น การติดเชื้อเอชไอวี เบาหวาน ความดัน เพราะเมื่อเปลี่ยนความคิดว่าโรคที่เราเป็นและรักษาไม่หาย ว่า เขาเป็นเพื่อนเรา ทำให้เราต้องใส่ใจและดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีมากขึ้น เมื่อเราไม่ตีตราตัวเอง เราก็จะไม่เครียด ไม่ทุกข์ และมีกำลังใจ ภาวะโรคก็จะดีขึ้น สุขภาพเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย” นายศุภชัย กล่าว

เช่นเดียวกับ น.ส.สิรินทร จิระกุล อายุ 26 ปี นักศึกษาปริญญาโท คณะศิลปะศาสตร์ เอกภาษาไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และครูอาสาสมัครสอนสามเณร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินอีกรายที่มีมุมมองต่อโรคในแง่บวกเช่นกัน ทำให้โรคที่กำเริบรุนแรง บรรเทาลงจนดูเป็นปกติได้

น.ส.สิรินทร เล่าว่า ตนเริ่มมีอาการโรคสะเก็ดเงินตั้งแต่ปี 2544 หรือประมาณ 10 ขวบ โดยเริ่มต้นจากการมีผื่นแดงขึ้น ผิวหนังลอก แต่มีอาการมากขึ้นในปี 2547 จึงไปพบแพทย์และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสะเก็ดเงิน ก็ไปรักษาทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์ทางเลือก รวมไปถึงสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่ตอนนั้นตนก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการรักษา เพราะคิดว่าอย่างไรก็รักษาไม่หาย ก็เลยเหมือนกับประชดชีวิตตัวเองด้วยการไม่รักษาอีก

“ตอนนั้นคิดว่า ไหนๆ จะป่วยแล้ว ถ้าจะมาก็มา มาให้สุดมาให้เต็มที่ไปเลย แล้วก็ทิ้งการรักษาไปเกือบ 10 ปี ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ทรมานมาก เพราะสภาพของอาการถือว่ารุนแรงมาก เป็นแทบทั้งตัว ที่หนักสุด คือ ที่ขา เหมือนมันไม่ใช่ผิวหนังมนุษย์เลย ดูแบบไม่มีหนังปกคลุมเลย เหมือนเนื้อที่แบบบางมากๆ แล้วบางทีพอมันแห้งก็เกิดรอยแยกจากการเคลื่อนไหว บางคืนนอนก็จะมีเลือดซึมติดผ้าห่ม จนไม่สามารถขยับขาได้เลย ตอนไปเรียนก็ทรมานมาก แม้จะทาโลชั่นเพื่อให้ผิวชุ่นชื้นอย่างไรก็ไม่ได้ผล นั่งห้อยขาไม่ได้ ต้องนั่งเหยียดขา พออากาศเย็นก็รู้สึกเหมือนมีเข็มมาทิ่มแทงทั้งร่างตลอดทุกทิศทาง” น.ส.สิรินทร กล่าว

น.ส.สิรินทร กล่าวว่า จุดเปลี่ยนของความคิด คือ คำที่หมอที่ศิริราชพูดกับตนว่า แล้วจะให้หมอช่วยอะไร มันทำให้ตนคิดได้ ว่าจริงๆ แล้วคนป่วยก็อยากรักษาให้หาย ไม่มีใครอยากเจ็บป่วยไปแบบนี้ตลอด แต่ที่ไม่รักษาเพราะเป็นการประชดชีวิต จึงได้หันกลับมารักษาอีกครั้ง และทุกครั้งที่ไปพบแพทย์ก็หวังว่าจะดีขึ้นทุกครั้ง จนตอนนี้ก็สามารถใช้ชีวิตปกติได้ อาการทางผิวหนังไม่เหลือให้เห็น แต่ต้องดูแลตัวเองอย่างดี แต่มีปัญหาบ้างจากการที่โรคเคนเข้าข้อ ทำให้กระดูกขดผิดรูป

“หนูโชคดีที่คนรอบข้างไม่มีใครรังเกียจโรคที่หนูเป็น คนในครอบครัวพร้อมช่วยเหลือตลอด เพื่อนที่เรียนก็เข้าใจ แต่อาจจะมีบ้างที่ได้รับสายตาสงสัยจากคนอื่นว่าเราเป็นอะไร ส่วนรังเกียจหรือไม่ไม่แน่ใจ แต่เราไม่ได้มองว่าสิ่งที่คนอื่นกระทำนั้นผิด เพราะแผลบนร่างกายก็ไม่น่ามองจริง ซึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่รู้สึกอะไร ช่วงเด็กก็เคยแยกตัวจากสังคม แต่พอโตขึ้นก็รู้สึกว่า คุณค่าของคนไม่ได้ตัดสินที่เป็นโรคหรือไม่ การที่เราเป็นโรคไม่ได้หมายความว่าเราผิด ต้องถูกตีตรา เราสามารถสร้างคุณค่าในตัวเองขึ้นมาได้ โรคนี้สามารถกำเริบได้ตลอด ก็เหมือนปัญหาที่เมื่อเข้ามาก็ต้องแก้ แก้แล้วก็ยังมีปัญหาเข้ามาอีก ดังนั้น เราต้องสร้างคุณค่าตนเองมากลบรอยแผล จึงเป็นที่มาของการการมาเป็นครูอาสา เพื่อสร้างคุณค่าให้ตัวเอง ให้คนอื่นยอมรับในสิ่งที่ตนทำประโยชน์กับคนอื่น ไม่ต้องยึดโยงกับคำพูดคนอื่น ตรงนี้ทำให้เรามีความสุข และมีความกล้าที่จะใช้ชีวิต” น.ส.สิรินทร กล่าว

พญ.อรยา กว้างสุขสถิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการประชาสัมพันธ์องค์กร สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า สายตาของคนอื่นอาจทำให้ผู้ป่วยเสียความมั่นใจได้ แต่อยากให้ผู้ป่วยมีจิตใจที่เข้มแข็ง เพราะยิ่งเรากังวลหรือเครียด ก็จะยิ่งทำให้โรคกำเริบมากขึ้น ต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง ดังนั้น สิ่งที่ผู้ป่วยควรทำ คือ หลีกลี่ยงสิ่งกระตุ้นของโรค ได้แก่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่หลีกเลี่ยงแสงแดดที่ร้อนเกินไป เลี่ยงการสัมผัสสารเคมี ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด ไม่เกาคันจนอักเสบ ก็จะช่วยให้เลี่ยงอาการกำเริบของโรคขึ้นมาได้

หากคนในสังคมไม่ตีตราผู้ป่วย และผู้ป่วยไม่ตีตราตนเอง มองโรคเป็นเพื่อนที่ทำให้เราต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีขึ้น เมื่อสามารถควบคุมโรคให้ไม่กำเริบได้ เราก็สามารถใช้ชีวิตปกติอย่างมีความสุขได้


กำลังโหลดความคิดเห็น