xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงร่าง กม.สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ประกาศไม่ทันรัฐบาล คสช.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เปิดสถิติผู้บริโภคร้องเรียนปี 60 พบกว่า 3,615 เรื่อง สินค้าสุขภาพพบสูงสุด 24% สินค้าและบริการทั่วไป 18% การเงิน 14% สสส.จับมือเครือข่ายผู้บริโภค เดินหน้ากฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ เพิ่มพลังคุ้มครองประชาชน เผยอยู่ระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา

วันนี้ (29 ต.ค.) ที่ ห้องเมจิก 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นายพิทยา จินาวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ เรื่อง องค์กรผู้บริโภคคุณภาพ: ทิศทาง บทบาท และการสนับสนุน และพิธีมอบใบประกาศรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพ จัดโดย สสส. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) มูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาองค์กรผู้บริโภคและเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน พร้อมทั้งมอบใบประกาศรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพขั้นพื้นฐานและขั้นสูง จำนวน 222 องค์กร

นายพิทยา กล่าวว่า สถิติการร้องเรียนของผู้บริโภค ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม ปี 2560 ผ่านเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคใน 7 ภาค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่า มีประชาชนร้องเรียนเข้ามาทั้งสิ้น 3,615 เรื่อง แบ่งออกเป็น ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ร้อยละ 24.48 สินค้าและบริการทั่วไป ร้อยละ 18.87 บริการสุขภาพและสาธารณสุข ร้อยละ 17.46 การเงินการธนาคาร ร้อยละ 14.58 บริการสาธารณะ ร้อยละ 11.73 สื่อและโทรคมนาคม ร้อยละ 4.87 อสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 3.51 และเรื่องอื่นๆ ร้อยละ 4.51 ทั้งนี้ องค์กรผู้บริโภคที่รับเรื่องร้องเรียนได้ช่วยดำเนินการและแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนไปแล้ว ร้อยละ 75.88 แบ่งออกเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างเสร็จสิ้น ร้อยละ 55.91 และให้คำปรึกษา ร้อยละ 44.09 จากสถานการณ์และผลการดำเนินงานข้างต้น แสดงให้เห็นความสำคัญขององค์กรผู้บริโภค เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชนที่ควรได้รับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค และตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

“ในช่วงที่ผ่านมา สสส. ได้สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่าง มวคบ. สคบ. มพบ. ศูนย์วิชาการการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และภาคีเครือข่าย ในการพัฒนาและขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. … ตามเจตนารมณ์ในมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยในร่าง พ.ร.บ.ที่เกิดจากทำงานร่วมกันของภาควิชาการและภาคประชาสังคม ได้กำหนดให้สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติซึ่งเป็นนิติบุคคล สามารถเป็นตัวแทนของผู้บริโภคระดับประเทศ ทำหน้าที่ประสานนโยบายและให้ข้อเสนอแนะด้านการคุ้มครองผู้บริโภคต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 46 บัญญัติไว้ว่า สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสอง มีสิทธิรวมตัวกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้งอำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” นายพิทยา กล่าว

ผศ.ภญ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ กล่าวว่า ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) มีภารกิจในการพัฒนาหลักเกณฑ์องค์กรคุณภาพ และจัดกระบวนการพัฒนา รวมถึงกระบวนการประเมินองค์กรผู้บริโภคคุณภาพร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยในปี 2561 นับเป็นปีแรกที่จัดให้มีการประเมินรับรองคุณภาพ โดยมีองค์กรผู้บริโภคที่มีความพร้อมเข้าสู่กระบวนการรับรองกว่า 200 องค์กร และมีองค์กรที่ผ่านการรับรองแล้วทั้งสิ้น 222 องค์กร ในอนาคตผู้แทนจากองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการรับรองเหล่านี้ จะมีโอกาสเข้าไปอยู่ในสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ที่จะมีการจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 เพื่อร่วมทำหน้าที่พัฒนาข้อเสนอนโยบายและมาตรการต่างๆ ในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับภาคประชาชนดังกล่าว ยังสนับสนุนให้บุคคลธรรมดาหรือผู้บริโภคตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป สามารถรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคขึ้นได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคอย่างครอบคลุมทั่วถึง

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ. สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. ... ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ โดยมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งในวันที่ 31 ต.ค. นี้ จะมีการประชุมครั้งสุดท้าย ซึ่งจะหารือหลักการสำคัญคือ การมีสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติเพียงสภาเดียวเพื่อความเป็นเอกภาพ คณะกรรมการสภาฯ ต้องมาจากองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนด้านต่างๆ รวมทั้งประเด็นอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้สูงที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะประกาศใช้ไม่ทันในรัฐบาลนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น