xs
xsm
sm
md
lg

ปรับแผนเจาะอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน หลังน้ำซึมเข้าปล่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กทม.สั่งปรับแผนเจาะอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน หลังเจอปัญหาน้ำซึมเข้าปล่องรับน้ำ ใช้สารสลายปรับดินให้แข็งตัว คาด พ.ย.สร้างปล่องรับน้ำเสร็จ เร่งทำงานทั้งหมดให้จบในปี 63 แก้ปัญหาน้ำท่วม 4 เขต

วันนี้ (28 ต.ค.) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำบางอ้อ เขตบางนา ว่า อุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ม. ความยาว 9.4 กม. ความลึก 30 ม. โดยแนวอุโมงค์จะเริ่มจากอาคารรับน้ำบริเวณบึงหนองบอน ลอดใต้แนวคลองหนองบอน แนวคลองตาช้าง ถนนศรีนครินทร์ ถนนอุดมสุข ซอยอุดมสุข 29 ถนนสุขุมวิท 101/1 ลอดใต้แนวคลองบางอ้อ ผ่านสถานีสูบน้ำและออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางอ้อ โดยจะมีการก่อสร้างปล่องรับน้ำและอาคารรับน้ำ 7 แห่ง เพื่อรวบรวมน้ำในคลองต่างๆ ให้ระบายลงสู่อุโมงค์ ได้แก่ อาคารรับน้ำบึงหนองบอน อาคารรับน้ำคลองหนองบอน อาคารรับน้ำคลองเคล็ด อาคารรับน้ำคลองหลอด กม.3 (อุดมสุข 56) อาคารรับน้ำคลองหลอด กม.2 (อุดมสุข 42) อาคารรับน้ำถนนสุขุมวิท 66/1 อาคารรับน้ำซอยสุขุมวิท 101/1 สถานีสูบน้ำอุโมงค์บางอ้อ และอาคารทิ้งน้ำ 1 แห่ง ผลงานการก่อสร้างที่ทำได้ 25.15% แผนงานที่วางไว้ 80.79%

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักการระบายน้ำและผู้รับจ้างหารือร่วมกันในการปรับแผนการทำงานเป็นระยะ รวมทั้งให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อโครงการ ที่ผ่านมาผู้รับจ้างได้เจาะอุโมงค์ในปล่องรับน้ำบึงหนองบอนโดยดำเนินการขุดเจาะที่ความลึกจากระดับพื้นดินลงไปประมาณ 30 ม. เจาะไปตามแนวคลองหนองบอน เลี้ยวไปตามแนวคลองตาช้าง เข้าถนนศรีนครินทร์ แต่เนื่องจากสภาพดินที่ไม่แข็งตัว โดยดินชั้นบนจะเป็นดินเหนียวดินชั้นล่างจะเป็นดินปนทราย จึงทำให้มีน้ำซึมเข้าในปล่องรับน้ำหนองบอน อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้ผู้รับจ้างดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการใช้สารละลายโซเดียมซิลิเกตเพื่อให้ดินมีความแข็งตัวสามารถขุดเจาะอุโมงค์ได้

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับการก่อสร้างปล่องรับน้ำบึงหนองบอน ปล่องรับน้ำคลองหนองบอน ปล่องรับน้ำซอยสุขุมวิท 101/1 ปล่องรับน้ำคลองหลอด กม.2 (อุดมสุข 42) ดำเนินการเสร็จแล้ว ส่วนปล่องรับน้ำคลองหลอด กม.3 (อุดมสุข 56) คาดว่า จะแล้วเสร็จเดือน พ.ย.2561 นอกจากนี้ พื้นที่ก่อสร้างอาคารรับน้ำ 2 แห่ง คือ อาคารรับน้ำคลองเคล็ด และอาคารรับน้ำถนนสุขุมวิท 66/1 ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างตามรูปแบบในสัญญาได้ จึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบการก่อสร้างอาคารทั้ง 2 แห่ง อย่างไรก็ตาม คาดว่าโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จะแล้วเสร็จในปี 2563 โดยจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 85 ตร.กม. ในพื้นที่เขตประเวศ เขตสวนหลวง เขตพระโขนง และ เขตบางนา ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น