xs
xsm
sm
md
lg

กทม.จับมือ TUC เปิดรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาต้านไวรัสฟรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรุงเทพมหานคร จับมือศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯด้านสาธารณสุข (TUC) เปิดให้บริการรักษาด้วยยาต้านไวรัสผู้ติดเชื้อเอชไอวี-ผู้ป่วยเอดส์ พร้อมรับยาต้านไวรัสฟรีต่อเนื่องในศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข (TUC) แถลงข่าวเปิดตัวการให้บริการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสในศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการด้านการดูแลรักษารวมถึงการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีให้แก่ประชาชนทั่วไป ทั้งคนไทยที่มีสิทธิ์ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด คนเร่ร่อน คนไร้สิทธิ์ และแรงงานต่างด้าวที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงและผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้มีโอกาสเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียมกันที่สถานพยาบาลปฐมภูมิใกล้บ้าน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยแบ่งบริการป้องกันดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสในศูนย์บริการสาธารณสุข เป็น 3 ด้าน ดังนี้

1. การให้บริการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัส โดยเริ่มยาต้านไวรัสในผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่และรับการส่งต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการคงที่เพื่อรับการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง ในศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย 8 แห่ง คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข 20 บมจ.ธนาคารนครหลวงไทย, ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง, ศูนย์บริการสาธารณสุข 26 เจ้าคุณพระประยุรวงศ์, ศูนย์บริการสาธารณสุข 28 กรุงธนบุรี, ศูนย์บริการสาธารณสุข 36 บุคคโล, ศูนย์บริการสาธารณสุข 40 บางแค, ศูนย์บริการสาธารณสุข 61 สังวาลย์ ทัสนารมย์ และ ศูนย์บริการสาธารณสุข 64 คลองสามวา

2. การให้บริการรับ-ส่งต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการคงที่เพื่อรับการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องในศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย 19 แห่ง คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข 6 สโมสรวัฒนธรรมหญิง, ศูนย์บริการสาธารณสุข 7 บุญมี ปุรุราชรังสรรค์, ศูนย์บริการสาธารณสุข 8 บุญรอด รุ่งเรือง, ศูนย์บริการสาธารณสุข 9 ประชาธิปไตย, ศูนย์บริการสาธารณสุข 11 ประดิพัทธ์, ศูนย์บริการสาธารณสุข 15 ลาดพร้าว, ศูนย์บริการสาธารณสุข 22 วัดปากบ่อ, ศูนย์บริการสาธารณสุข 29 ช่วง นุชเนตร, ศูนย์บริการสาธารณสุข 31 เอิบ-จิตร ทังสุบุตร, ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลองเตย, ศูนย์บริการสาธารณสุข 44 ลำผักชี หนองจอก, ศูนย์บริการสาธารณสุข 45 ร่มเกล้า ลาดกระบัง, ศูนย์บริการสาธารณสุข 48 นาควัชระอุทิศ, ศูนย์บริการสาธารณสุข 49 วัดชัยพฤกษมาลา, ศูนย์บริการสาธารณสุข 51 วัดไผ่ตัน, ศูนย์บริการสาธารณสุข 56 ทับเจริญ, ศูนย์บริการสาธารณสุข 58 ล้อม-พิมเสน ฟักอุดม, ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร และศูนย์บริการสาธารณสุข 66 ตำหนักพระแม่กวนอิมโชคชัย 4

3. การให้บริการยาต้านไวรัสเพื่อการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ (Pre-Exposure Prophylaxis: PrEP)และการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสที่ไม่ใช่จากการทำงาน (HIV non-occupational Post-Exposure Prophylaxis: HIV nPEP) ในศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย 12 แห่ง คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข 3 บางซื่อ, ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดง, ศูนย์บริการสาธารณสุข 9 ประชาธิปไตย, ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง, ศูนย์บริการสาธารณสุข 23 สี่พระยา, ศูนย์บริการสาธารณสุข 25 ห้วยขวาง,ศูนย์บริการสาธารณสุข 26 เจ้าคุณพระ-ประยุรวงศ์,ศูนย์บริการสาธารณสุข 28 กรุงธนบุรี, ศูนย์บริการสาธารณสุข 29 ช่วง นุชเนตร, ศูนย์บริการสาธารณสุข 36 บุคคโล, ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี และ ศูนย์บริการสาธารณสุข 48 นาควัชระอุทิศ

ทั้งนี้ จากความร่วมมือระหว่างศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข (TUC) กองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานภาคีอื่นๆ นำไปสู่การขยายบริการในด้านการป้องกัน การดูแลรักษาที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีบริการยาต้านไวรัสแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการคงที่ ซึ่งได้รับการส่งต่อมาจากโรงพยาบาล ในศูนย์บริการสาธารณสุข 27 แห่ง บริการ PrEP ในศูนย์บริการสาธารณสุข 12 แห่ง และบริการเริ่มยาต้านไวรัส ในศูนย์บริการสาธารณสุข 8 แห่ง ด้วยความมุ่งมั่นในความร่วมมือกับหลายภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาเอชไอวี/เอดส์ โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ “การยุติปัญหาเอดส์ในกรุงเทพมหานครและประเทศไทย ในปี 2573” ผู้สนใจเข้ารับบริการสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-860-8751-6 ต่อ 417, 400 หรือ 508


กำลังโหลดความคิดเห็น