“สมหวัง” จี้ต้องเลิกเถียงผลิตครู 4 ปี หรือ 5 ปี แนะทำ 5 ปีแต่ได้วุฒิป.โท พร้อมแนะคณะครุ/ศึกษา ปรับหลักสูตรการสอนเป็น 2 ภาษา ผลิตครูให้มีความรู้สำนึกสากล
วันนี้ ( 27 ต.ค.) ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ความฉลาดรู้สากล กับ ครูการผลิตและพัฒนาครูคุณภาพ” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นเนื่องในโอกาส "ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์" ครบรอบ 72 ปี โดยมีนิสิตคณะครุฯ ปีที่ 1-5 คณาจารย์คณะครุฯ และคณะศึกษาศาสตร์ เข้าร่วม ตอนหนึ่งว่า อุดมศึกษาไทย กำลังอยู่ในความเปลี่ยนแปลงจาก 3 กระแส คือ กระแสโลกาภิวัฒน์ กระแสวิทยาการความรู้ นวัตกรรม และสังคมดิจิทัล ซึ่งปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมมาอุดมศึกษา และการศึกษาของประเทศ ทำให้ระบบการศึกษาต้องเปลี่ยน จะทำแบบเดิมต่อไปอีกไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในการผลิตและพัฒนาครูจากนี้ ต้องสร้างคนที่มีความฉลาดรู้สากล ในที่นี้หมายถึง การมีสำนึกสากล การมีสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลก มีความรู้เข้า มีความสามารถในการวิเคราะห์ เหตุการณ์ หรือพหุวัฒนธรรมที่เกิดในโลกไพรมแดน อย่างมีวิจารณญาณ มีมุมมองที่หลากหลาย
ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ตนขอฝากคณะครุศาสร์และคณะศึกษาศาสตร์ให้ความสำคัญในการผลิตและพัฒนาครู 2 เรื่องหลัก ดังนี้ 1.ครูคุณภาพ โดยเฉพาะในช่วง 1-3 ปี คณะครุศาสตร์/คณะศึกษาศาสตร์ควรทำงานร่วมกับโรงเรียนมากขึ้น เน้นการสร้างองค์ความรู้ ผลักดันโดยใช้แรงขับจากภายในเพื่อให้นิสิต นักศึกษาครูพัฒนาตนเอง และ 2. ครูศึกษาสำหรับครูประจำการ ที่เน้นให้มีการฝึกอบรมด้วยระบบคูปอง โดยเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาต้องมาช่วยกัน ซึ่งความจริงเวลานี้ก็พบว่ามีการจัดใช้ระบบคูปองแต่ยังขาดความเข้าใจที่ถ่องแท้ โดยการอบรมต้องการันตรีว่าเกิดคุณภาพการพัฒนาได้แท้จริงและเด็กได้ประโยชน์
“เวลานี้มีข้อถกเถียงเรื่องการผลิตครูหลักสูตร 4 ปี และหลักสูตร 5 ปี แต่คนที่เถียงก็ไม่รู้ความจริงเพราะตั้งแต่การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมามีข้อเสนอว่าให้ผลิตครูหลักสูตร 6 ปีเทียบเท่าระดับบัณฑิตศึกษา จบมาได้วุฒิปริญญาโท แต่ยังไม่สามารถทำได้ สุดท้ายจบหลักสูตร 5 ปีในระดับปริญญาตรี อย่างไรก็ตาม เวลานี้กระแสโลกเปลี่ยนแปลงทั้งดิจิทัล โลกออนไลน์ ออฟไลน์ การเข้าถึงแหล่งข้อมูลทำได้ง่าย เพราะฉะนั้น ผมเสนอว่าไม่ต้องโต้เถียงกันว่า 4 ปี หรือ 5 ปี แต่ยกระดับให้จบปีในระดับบัณฑิตศึกษา หรือ ป.โท ไปเลย ขณะที่หลักสูตรการเรียนการสอนยังคงต้องเน้นการปฏิบัติเป็นตัวนำ เพราะที่ผ่านมายังเน้นทฤษฎีนำมากเกินไป ตลอดจนหลักสูตรการสอนควรต้องเป็นหลักสูตรสอน 2 ภาษา ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการเรียนรู้ ตลอดจน ต้องให้ความสำคัญในเรื่องการประเมินผลการศึกษาให้มากขึ้นด้วย”ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง กล่าว
ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ..มีข้อเสนอให้กำหนดไว้ในมาตรหนึ่งของร่างพ.ร.บ...เรื่องการจัดตั้ง “กองทุนผลิตพัฒนาครูอาจารย์” ขึ้น แต่น่าเสียดายว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีการบรรจุเรื่องนี้ เพราะการคัดค้านทั้งที่ เราบอกว่าครูอาจารย์สำคัญที่สุดต่อระบบการศึกษา แต่กลับพบว่าเราขาดการลงทุนอย่างจริงจัง แต่ที่อย่างน้อยที่น่าดีใจในการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ สามารถผลักดันให้เกิดการจัดตั้งกองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษาได้อย่างสำเร็จ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้เรียนและครูอาจารย์ด้วย
สำหรับกิจกรรมดังกล่าวยังมี prof.Dr.Gerald W.Fly จาก University of Minnesota มาร่วมปาฐกถาหัวข้อ “Strategies for Enhancing Global Literacy” ถ่ายทอดประสบการณ์ และเปิดโอกาสตอบข้อซักถามให้แก่นิสิตและผู้สนใจเข้าร่วมงานด้วย