xs
xsm
sm
md
lg

จิตแพทย์หนุน กม.ห้ามสอบเข้าอนุบาล-ป.1 ชี้ไม่เกิน 8 ขวบ ไม่ควรสอบแข่งขัน ทำเด็กเครียดไม่รู้ตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จิตแพทย์หนุนคลอด กม.ห้ามสอบเข้าอนุบาล-ป.1 ชี้ เด็กวัยไม่เกิน 8 ขวบ ไม่ควรมีการสอบแข่งขัน ทำให้เด็กเครียด กดดัน พ่อแม่ไม่รู้ตัว เพราะเด็กสื่อสารความรู้สึกไม่ได้ แนะสังเกตดื้อ ซน ก้าวร้าว ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่อยากไป ร.ร.สัญญาณบอกเด็กเครียด ย้ำวัยนี้ควรสอนทักษะสังคม วินัย การช่วยเหลือตัวเอง ไม่เน้นวิชาการ อย่าบังคับเด็กอ่านเขียน ค่อยเริ่มตอน ป.2 ก็ไม่สาย

จากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ... ซึ่งมีสาระสำคัญในเรื่องการรับเด็กเข้าสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและสถานศึกษา ไม่ให้มีการสอบเข้า หรือไม่ให้มีการสอบเข้าอนุบาล หรือ ป.1

อ่าน เปิดร่าง พ.ร.บ.เด็กปฐมวัย หลังผ่าน ครม. ต้องไม่มีสอบเข้าอนุบาล-ป.1

วันนี้ (26 ต.ค.) พญ.ศุภรัตน์ เอกอัศวิน ผู้ทรงคุณวุฒิ สถานบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ตนเห็นด้วยกับการออกกฎหมายดังกล่าวที่ไม่ให้มีการจัดสอบเข้าอนุบาลหรือ ป.1 และหากกฎหมายดังกล่าวจะผ่านออกมาบังคับใช้จริง จะเป็นเรื่องดีสำหรับเด็กไทย เนื่องจากเด็กในช่วงวัยดังกล่าวเป็นช่วงที่จะต้องพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตต่างๆ ทั้งทักษะทางสังคม การเรียนรู้สิ่งแวดล้อม การช่วยเหลือตัวเอง การจากบ้านเป็นเวลานาน การอยู่ร่วมกับเพื่อน ครู การมีวินัยในตนเอง เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่วัยที่จะมีความพร้อมในการสอบแข่งขัน ดังนั้น หากการเรียนการสอนในช่วงอนุบาลหรือ ป.1 เน้นในเรื่องทักษะเหล่านี้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องใช้การสอบเข้า แต่อาจมีอยู่เหตุผลเดียวคือ การแย่งกันเข้าที่เรียน นอกจากนี้ การเรียนการสอนก็ไม่ควรให้ความรู้สึกกดดันกับเด็ก หรือการให้การบ้านมาทำจำนวนมาก แล้วมีการสอบแข่งขันกันระหว่างเรียน

“เด็กในช่วงวัยไม่เกิน 7-8 ขวบนี้ หรือช่วงชั้น ป.1 ไม่ควรมีการสอบแข่งขันใดๆ แต่ควรเน้นเรื่องทักษะการใช้ชีวิตต่างๆ ซึ่งปัจจุบันก็ได้ยินมาว่ามีสถานการณ์การสอบในเด็กเล็กมากขึ้น แต่ที่สังเกต คือ ไม่ค่อยมีผู้ปกครองในการพาเด็กวัยนี้มาพบจิตแพทย์ เนื่องจากอาจไม่ทราบว่าเด็กมีความเครียด เพราะเด็กไม่สามารถอธิบายความรู้สึกในเรื่องอย่างนี้ออกมาได้ ทำให้ผู้ปกครองไม่ทราบ แต่ย้ำว่า การให้เด็กวัยนี้สอบแข่งขันต่างๆ สร้างความเครียดและกดดันให้แก่เด็กได้เช่นกัน ซึ่งวิธีการสังเกตว่าเด็กมีความเครียดหรือไม่ คือ เด็กอาจมีอาการซย ก้าวร้าว ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่อยากไปโรงเรียน ก็เป็นอาการที่ช่วยให้พ่อแม่สังเกตได้” พญ.ศุภรัตน์ กล่าว

พญ.ศุภรัตน์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่เด็กในวัยนี้จะเกิดความเครียดจาก 3 ปัจจัย คือ ปัจจัยทางบ้าน เช่น พ่อแม่มีปัญหา หรือทะเลาะกัน ตรงนี้พ่อแม่ต้องแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และอย่าให้เด็กรับรู้เรื่องเหล่านี้ ปัจจัยที่โรงเรียนจากครู เพื่อน และการเรียน โดยเด็กอาจไม่มีความสามารถมากพอในการเรียน มีการบ้านเยอะมาก และปัจจัยที่ตัวเด็กเอง ซึ่งบางคนอาจมีปัญหาด้านอารมณ์ หรือสมาธิสั้น ก็ทำให้มีปัญหาในเรื่องของการเรียนรู้ได้ ซึ่งพ่อแม่ต้องคอยสำรวจปัญหาเหล่านี้ด้วยและหาทางแก้ปัญหา

เมื่อถามถึงค่านิยมพ่อแม่บังคับให้ลูกเล็กเรียนพิเศษ ฝึกอ่านเขียนให้ไว เพราะกลัวสู้ลูกเพื่อนไม่ได้ กลัวอ่านเขียนไม่ได้ จนสร้างความกดดันให้เด็ก พญ.ศุภรัตน์ กล่าวว่า อย่างที่บอกว่าช่วงก่อน 7-8 ขวบ เป็นช่วงที่ต้องฝึกทักษะ ฝึกวินัยต่างๆ ให้แก่เด็ก จะมาฝึกเอาตอนวัยรุ่นนั้นไม่ได้แล้ว ช่วงวัยนี้เป้นเวลาทองที่จะต้องฝึก ดังนั้น พ่อแม่และโรงเรียนก็ต้องเน้นในเรื่องเหล่านี้ ยังไม่เน้นเรื่องของการอ่านออกเขียนได้หรือทางวิชาการมากจนเกินไป โดยเด็กที่พ้น 8 ขวบไปแล้ว หรือช่วง ป.2 ขึ้นไปเด็กจะเริ่มเก่งทุกอย่างในการใช้ชีวิต การช่วยเหลือตัวเองแล้ว ค่อยเน้นเรื่องทางวิชาการก็ยังไม่สาย ส่วนที่กลัวว่าลูกจะอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในช่วง ป.1 ก็ไม่อยากให้กังวล เพราะจริงๆ แล้วเด็กเขามีการเรียนรู้เริ่มเขียนอ่านได้แล้ว เพราะเขาเห็นตัวอย่างจากผู้ใหญ่ในการเขียนอ่านก็พยายามเลียนแบบ แต่อาจจะไม่คล่อง ซึ่งต้องไม่ไปสร้างความกดดันให้เด็ก

พญ.ศุภรัตน์ กล่าวว่า ในการประเมินว่าเด็กอ่านออกเขียนได้หรือไม่นั้น ต้องชี้แจงว่า อยากให้ดูจากพัมนาการของเด็กว่าสมวัยหรือไม่ ซึ่งจะมีสมุดเล่มสีชมพูในการบันทึกพัฒนาการของลูกว่า ในช่วงวัยนี้เขาต้องทำอะไรได้บ้างแล้ว ก็ช่วยในการประเมินได้ แต่เมื่อเข้าโรงเรียนก็จะมีครูช่วยประเมินพัฒนาการของเด็ก โดยจะดูจากค่าเฉลี่ยของห้อง เช่น การเขียนตัวอักษรนี้ หรืออ่านคำๆ นี้ เด็กส่วนใหญ่สามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งหากสามารถทำได้ อยู่ในกลุ่มเฉลี่ย 2 ใน 3 ของห้องก็อาจประเมินได้ว่าเด็กพัฒนาปกติ แต่หากทำไม่ได้อยู่ในโซนรั้งท้าย 1 ใน 3 ก็อาจประเมินว่าเด็กมีความผิดปกติอะไรหรือไม่ ซึ่งครูก็จะแจ้งให้ผู้ปกครองรับทราบ แต่ยืนยันว่าการประเมินต้องไม่ทำให้เด็กรู้สึกกดดันหรือประเมินในเรื่องของทางวิชาการมากจนเกินไป แต่ควรประเมินในเรื่องทักษะการใช้ชีวิตของเด็กมากกว่า สำหรับในช่วง ป.1 ลงมา


กำลังโหลดความคิดเห็น