บอร์ด ก.ค.ศ.มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์คัดเลือก ผอ.สถานศึกษา สังกัด สพฐ.และผอ.วิทยาลัย สังกัด สอศ. ต้องสอบให้ได้คะแนนร้อยละ 60 ขึ้นบัญชี 2 ปี พร้อมให้การสอบของ สพฐ.มีข้อเขียน แต่อาชีวะไม่ต้องสอบข้อเขียน ขณะที่ “บุญรักษ์” ระบุตำแหน่งผอ.ว่างอยู่กว่า 6,000 อัตรา คาดมีคนเข้าชิงเก้าอี้เกือบ 20,000 คน
วันนี้ (25 ต.ค.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูแลละบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยหลักการจะไม่ต่างจากการสอบครั้งที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถดำเนินการจัดสอบได้อย่างรวดเร็วและไม่ให้เกิดข้อถกเถียง การคัดเลือกจะประกอบด้วย 3 ภาค คือ ภาค ก ความรู้และความสามารถในการบริหารงานในหน้าที่ ใช้การสอบข้อเขียน ภาค ข ความเหมาะสมกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ ใช้การประเมิน และภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง โดยวิธีการสอบสัมภาษณ์
ทั้งนี้ ผู้เข้าสอบจะต้องได้คะแนนภาค ก ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 จึงจะมีสิทธิสอบภาค ข และ ค ผู้ผ่านการคัดเลือกต้องได้คะแนนการสอบแต่ละภาค ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 60 และคะแนนรวมทั้ง 3 ภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จะเป็นผู้ออกข้อสอบ กำหนดตัวชี้วัด และพิจารณาการขึ้นบัญชี ภายในกรอบระยะเวลา 2 ปี ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะใช้วิธีการประเมินโดยไม่ใช้การสอบข้อเขียน โดยให้เหตุผลว่า วิธีบริหารของ สอศ. ต่างกับ สพฐ. มีบุคลากรไม่มาก จึงสามารถประเมินได้โดยไม่ต้องสอบข้อเขียน
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีการปรับเพิ่มคุณสมบัติผู้เข้ารับการคัดเลือก ครั้งนี้จะให้คนที่เคยมีสิทธิสอบผู้อำนวยการสถานศึกษา ไม่ต้องเสียสิทธิ เช่น จากเดิมที่กำหนดว่า ต้องเป็น เป็นเคยเป็นรองผู้อำนวยการสถานศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา( สพท.) ตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสพท. เจ้าหน้าที่บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือดำรงตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ที่มีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากลุ่มมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือตำแหน่งครู ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการหรือดำรงตำแหน่งอื่นที่ก.ค.ศ.เทียบเท่า ซึ่งคนที่เคยมีสิทธิคงจะดีใจ
ด้าน ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. จะกำหนดปฏิทินการสอบ ซึ่งต้องไปดูทั้งระบบ ให้ต่อเนื่องกับการย้าย ไม่ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาที่ยื่นย้ายในรอบแรกเสียสิทธิการย้าย โดยจะเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเท่าได้ ขณะนี้มีตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาว่างอยู่ประมาณ 6,000 กว่าตำแหน่ง คาดว่า จะมีคนเข้ารับการคัดเลือกประมาณ 10,000-20,000 คน สาเหตุที่ต้องมีการสอบข้อเขียนเพราะ เพราะต้องมีการกลั่นกรองเนื่องจากเราเปิดโอกาสให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นเข้าร่วมด้วย ดังนั้นจึงต้องให้มีการศึกษากฎหมาย ถึงแม้จะอ่านมาจากตำรา แต่ก็เพื่อเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่ตำแหน่งให้มากขึ้น ส่วนของสอศ. ที่ไม่มีการสอบข้อเขียน เพราะส่วนใหญ่เป็นการคัดเลือกมากจากรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งมีประสบการณ์บริหารอยู่แล้ว ผ่านการสอบคัดเลือกมาตั้งแต่เป็นรองผู้อำนวยการสถานศึกษา