xs
xsm
sm
md
lg

หมอจุฬาฯ เร่งประสานกลุ่มนิรนามใช้ “กัญชา” รักษาโรคให้ข้อมูล หวังปลดล็อกพืชสมุนไพรเป็นยาด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ตั้งอนุ กก.เพิ่มอีก 4 ชุด พิจารณาออก กม.ลูกรองรับปลดล็อก “กัญชา” ทางการแพทย์ หมอจุฬาฯ จ่อประสานกลุ่มนิรนามใช้กัญชารักษาโรค ให้ข้อมูลเพื่อความรอบด้าน หวังอนุมัติพืชสมุนไพรเป็นยา ด้าน อย.เผยเปลี่ยนประเภทยาเสพติดแค่สารสกัดและน้ำมัน ยังไม่รวมพืช

วันนี้ (24 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการประชุมคณะกรรมการการกำหนดนโยบาย แนวทาง และการดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ... ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และ ร่าง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่...) พ.ศ. ... โดยมี นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน เพื่อพิจารณาจัดทำกฎหมายลูกออกมารองรับกฎหมายหลัก ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในกรรมการฯ กล่าวภายหลังประชุม ว่า ร่างกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งหมด จำเป็นต้องมีกฎหมายรองออกมารองรับ ซึ่งขณะนี้ตัวกฎหมายใหญ่ทั้งหมด อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. โดยประเด็นสำคัญ คือ ประเด็นที่ 5 และ 6 ซึ่งให้อำนาจ รมว.สาธารณสุข ในการพิจารณาวัตถุเสพติดประเภทที่ 5 คือ พืชสมุนไพรต่างๆ สามารถนำมาใช้เป็นยาได้หรือไม่ และคนที่จะจ่ายพืชยาแก่ผู้ป่วยจะจำกัดแค่แพทย์แผนปัจจุบันหรือไม่ หรือให้แพทย์แผนไทยด้วย รวมถึงคนที่เป็นโรคหรือครอบครัวที่มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้สารสกัดจากกัญชา ทั้งสกัดด้วยตัวเอง หรือนำมาจากเพื่อน จะสามารถใช้ได้หรือไม่

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุมจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มเติมอีก 4 คณะ คือ 1. คณะอนุกรรมการการควบคุมยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท สารระเหย และของกลาง มีเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นประธาน 2. คณะอนุกรรมการสถานพยาบาลยาเสพติด สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ศูนย์คัดกรอง และการสันนิษฐานว่าเสพ มีรองปลัด สธ.ที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน 3. คณะอนุกรรมการศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม และติดตาม ดูแล และช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด หรือผู้ผ่านการบำบัดรักษา มี นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธาน และ 4. คณะอนุกรรมการโฆษณาเกี่ยวกับการบำบัดรักษายาเสพติด มีรองปลัด สธ. เป็นประธาน เรียกว่าตั้งขึ้นเพื่อให้มีกฎหมายรองมากำกับ ควบคุม ดูแล ป้องกันและติดตาม โดยจุดนี้อาจารย์หลายภาคส่วนเห็นพ้องว่า อนุกรรมการเหล่านี้ควรมีภาคประชาชนเข้ามาร่วมด้วย ทั้งผู้ป่วย คนที่เคยใช้สารสกัด คณะเภสัชศาสตร์ต่างๆ ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย ปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน

“ที่ผ่านมา กฎหมายยาเสพติด หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จะคำนึงถึง 3-4 อย่าง คือ คนเสพ ยาเสพ การลงโทษ การผ่อนปรนต่างๆ ซึ่งในที่ประชุมบอกว่า สิ่งที่ยังไม่เพียงพอ คือ ประโยชน์ชัดๆ ของกัญชา ต้องดึงขึ้นมาให้ได้ ถ้ามีประโยชน์และมีโทษจริง แต่ควบคุมได้ และไม่ได้รุนแรงอย่างที่คิด จะเป็นตัวกำหนดว่าควรลงโทษหรือควบคุมหรือจำกัดการใช้แค่ไหน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้การใช้กัญชาหรือกระท่อมมาถึงจุดที่เกือบเป็นมาตรฐาน คือ สามารถบอกได้ว่า ในภาวะเช่นนี้ โรคเช่นนี้ ควรใช้สารสกัดน้ำมันเข้มข้นแค่ไหน ปริมาณเท่าไร แต่ละวันใช้ปริมาณเท่าไร ใช้วิธีการใด เช่น หยดใต้ลิ้น หรือสวนทวาร ซึ่งทุกภาคในประเทศมีการรักษาแบบนี้อยู่ แต่คนทั่วไปไม่ทราบ เพราะปัจจุบันยังผิดกฎหมาย แม้จะเป็นแนวทางในการช่วยชีวิตครอบครัวตัวเองก็ตาม สิ่งที่ต้องทำให้เสร็จภายในเดือนนี้ คือ ทำให้ชมรมหรือกลุ่มผู้ป่วยนิรนาม ชมรมที่มีการใช้แต่ไม่ขอเอ่ยชื่อ ในการให้ข้อมูลมาตีแผ่เพื่อรองรับกับกฎหมายที่จะปลดล็อกออกมา

ผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้งอนุกรรมการขึ้นมาจะยิ่งทำให้กฎหมายล่าช้าหรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ไม่ทัน ม.ค. 2562 แน่นอน เนื่องจากไทม์ไลน์กฎหมายให้ดำเนินการออกกฎหมายรองเสร็จประมาณ พ.ค. 2562 ถ้าเลือกตั้ง ก.พ. 2562 ก็ไม่ทันรัฐบาลนี้ แต่ในเรื่องการดำเนินการออกกฎหมายลูกก็จำเป็นต้องทำควบคู่กันไป อย่างไรก็ตาม การปลดล็อกกัญชามองว่า ยังต้องอาศัยวิธีการเปลี่ยนจากยาเสพติดประเภท 5 เป็นประเภท 2 และต้องให้ อย.กำกับชัดเจนว่า จะต้องเป็นยา ที่ไม่ใช่แค่สารสกัด แต่ต้องรวมถึงพืชกัญชา เพื่อเปิดทางให้ภูมิปัญญาท้องถิ่น แพทย์แผนไทย นอกจากนี้ ตนเห็นด้วยกับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา พืชกระท่อม พ.ศ. ... ฉบับประชาชน ในการผลักดันควบคู่ไปด้วย

“สิ่งสำคัญขณะนี้ผมจะเป็นคนประสานในการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยที่ใช้กัญชาบำบัดรักษาโรค ซึ่งขณะนี้ประสานได้ 50 คน ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ลมชัก อาการชักเกร็ง และจะนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งมีผู้แทนจาก อย. เพื่อให้ทราบว่ากัญชาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นช่วยชีวิตผู้คนได้จริง จะได้นำมาประกอบพิจารณาเมื่อปรับกฎหมาย ให้สารกัญชาเป็นประเภท 2 ใช้เป็นยาที่ไม่ใช่แค่สารสกัด แต่รวมพืชยาด้วย” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการ อย. กล่าวว่า การออกประกาศเปลี่ยนสารสกัดและน้ำมันกัญชาจากยาเสพติดประเภท 5 เป็นประเภท 2 ที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ก็เหมือนมอร์ฟีน ซึ่งคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้แนวทางเฉพาะส่วนที่เป็นสารสกัดและน้ำมันเท่านั้น ไม่สามารถครอบคลุมไปถึงส่วนของพืชได้ เนื่องจากใน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้ดทษ พ.ศ. 2522 ระบุกัญชาเป็นยาเสพติด คงต้องรอการแก้ไขกฎหมายหรืออกกฎหมายเฉพาะออกมาจึงจะสามารถครอบลุมพืชได้ ทั้งนี้ หากประกาศนี้มีผลบังคับใช้ ทาง อย.จะเป็นผู้ดำเนินการกระบวนการทั้งหมดเช่นเดียวกันมอร์ฟีน โดยจะเป็นผู้จำหน่ายภายใต้กองทุนยาเสพติดเพียงรายเดียว รวมถึงจะมีการควบคุมการจำหน่ายและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างเข้มงวด โดยจะอนุญาตให้ใช้เฉพาะ 4 กลุ่มอาการที่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับว่า สามารถใช้รักษาหรือบำบัดได้อย่างชัดเจนเท่านั้น ส่วนโรคอื่นๆ อาจอนุญาตในลักษณะศึกษาวิจัย ซึ่งจะต้องมีการออกใบอนุญาตการใช้สารสกัดจากกัญชาให้ผู้นำไปใช้ด้วย โดยผู้ใช้อาจจะเป็นเพียงแพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์แผนไทยเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น