คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจจะกำลังกังวลใจที่ลูกของท่านมีปัญหาในการอ่านออกเขียนได้ โดยที่ไม่เข้าใจว่าเกิดจากสาเหตุใด หรืออาจจะเข้าใจไปเองว่าลูกมีปัญหาเกี่ยวกับความบกพร่องทางสติปํญญาหรืออย่างไร
ภาวะดิสเล็กเซีย (Dyslexia)คือภาวะบกพร่องของการทำงานของสมองซีกซ้ายที่มีผลต่อการอ่านและการเขียน และรวมถึงการสะกดคำและการแปลความหมาย โดยสาเหตุเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมเป็นหลักเพราะเป็นความผิดปกติของโครโมโซม ดังนั้น หากมีประวัติว่าคนในครอบครัวเคยมีภาวะดิสเล็กเซีย ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวคนอื่นได้
สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับภาวะดิสเล็กเซีย (Dyslexia)
1. คนที่มีภาวะดิสเล็กเซีย จะมีปัญหาการเรียนรู้ด้านการอ่านและการเขียนเป็นหลัก
2. ภาวะดิสเล็กเซียสามารถปรากฏได้ในทุกวัย แต่ตามปกติมักปรากฏในช่วงวัยเด็ก
3. ภาวะดิสเล็กเซีย ไม่มีความสัมพันธ์กับเรื่องสติปัญญา ดังนั้นไม่ได้หมายความว่าคนที่มีภาวะดิสเล็กเซียจะไม่ฉลาดหรือมีสติปัญญาต่ำกว่าคนปกติ คนที่มีภาวะดิสเล็กเซียอาจมีระดับสติปัญญาปกติหรือบางรายอาจมีความฉลาดมากกว่าปกติก็เป็นได้
เมื่อลูกมีภาวะดิสเล็กเซีย (Dyslexia) คุณพ่อคุณแม่สามารถพบได้ว่าลูกจะมีปัญหาอย่างมากในการอ่านและการเขียน โดยลูกจะจำตัวอักษรและตัวเลขไม่ได้ สะกดคำไม่เป็นหรือมักผสมคำเอาเอง ไม่เข้าใจในสิ่งที่อ่าน เพราะจะสลับตัวอักษรหรือตัวเลขต่างๆจนมั่วไปหมด กล่าวง่ายๆคือพอมีการทำงานของสมองที่ผิดปกติไปในส่วนของการแปลความหมาย จึงมีผลทำให้เห็นคำผิดเพี้ยนไป โดยคำที่เห็นจะสลับกันไปมาจนกลายเป็นคำที่ไม่มีความหมาย หรือสลับไปกลายเป็นความหมายอื่น ซึ่งทำให้เกิดอุปสรรคอย่างมากในการเรียนรู้ในห้องเรียนของลูก เพราะต้องอ่านและเขียนหนังสือและสะกดคำเป็น เมื่อทำไม่ได้ เด็กก็จะเครียดและไม่มีความสุขกับการเรียนในห้องเรียน
แต่จริงๆแล้วการที่ลูกมีภาวะดิสเล็กเซีย (Dyslexia) ไม่ได้มีผลต่อการใช้ชีวิตปกตินอกห้องเรียนแต่อย่างใด เพราะเขาสามารถเรียนรู้ผ่านการมองเห็นหรือดูรูปภาพต่างๆ หรือผ่านการฟังได้ ดังนั้น ถ้าเป็นการพุดคุย ถามตอบ หรือแสดงความคิดเห็นโดยไม่ต้องผ่านการอ่านหรือการเขียน ลูกก็สามารถทำได้ดีเป็นปกติ และบางกรณี หากสนับสนุนให้mjลูกได้เรียนรู้ทางด้านอื่นๆเพิ่มเติม เขาก็สามารถประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา ร้องเพลง ทำงานศิลปะ ฯลฯ
ทำอย่างไรหากลูกมีภาวะดิสเล็กเซีย (Dyslexia)
1. ให้กำลังใจ ไม่ลงโทษ เสริมสร้างความมั่นใจ
- เมื่อพบว่าลูกมีภาวะบกพร่องทางการอ่านและการเขียน แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่คงมีความเครียดและกังวลสารพัด แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากกว่าสิ่งอื่นใดคือคนที่ไม่มีความสุขยิ่งกว่าใครก็คือลูกของเราเอง เพราะเขาต้องเผชิญกับสิ่งที่เขาไม่สามารถควบคุมได้ด้วยตนเอง อีกทั้งต้องเผชิญกับความกดดันจากสิ่งรอบตัว เพราะหลายคนคงไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงไม่สามารถทำอย่างคนอื่นได้ ดังนั้น การพูดที่ช่วยสร้างกำลังใจและส่งเสริมความมั่นใจ เช่น “ลูกทำได้” “ลูกเก่งมากเลย ไหนลองพยายามอีกนิดซิลูก” จะทำให้ลูกพัฒนาได้มากขึ้นๆเรื่อยๆ และสามารถผ่านพ้นภาวะความบกพร่องไปได้ในที่สุด
2. ฝึกให้อ่านหนังสือให้มาก
- โดยอาจกำหนดเวลาสำหรับการอ่านหนังสือในแต่ละวัน เช่น วันละ 1-2 ชั่วโมง และให้ลูกได้เลือกหนังสือที่ชอบ ให้ฝึกอ่าน ฝึกสะกดคำ ฝึกเขียน ฝึกพูดและอาจให้วาดรูปหรือระบายสีประกอบไปด้วยก็ได้ เพื่อไม่ให้น่าเบื่อจนเกินไป
3. ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์
- ด้วยการหาแอปพลิเคชั่นต่างๆที่ใช้ในการฝึกการอ่านและการสะกดคำ ซึ่งจะมีทั้งรูปและเสียงประกอบการอ่านสะกดคำให้ด้วย ลูกก็จะสามารถฝึกไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
4. ขอความช่วยเหลือจากคุณครูเป็นพิเศษ
- หากในโรงเรียนมีชั้นเรียนพิเศษที่จัดไว้สำหรับเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางด้านการเรียนรู้ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกได้ไปเรียนในห้องเรียนนั้น โดยอย่าคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าอับอาย เพราะคุณครูที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการสอนเด็กที่มีภาวะเช่นนี้จะสามารถช่วยดูแลช่วยเหลือลูกได้เป็นอย่างดี และลูกจะไม่รู้สึกกดดันเท่ากับการไปเรียนในชั้นเรียนปกติ และเมื่อสามารถแก้ไขภาวะความบกพร่องได้จนเป็นปกติจึงค่อยนำกลับเข้ามาในห้องเรียนปกติจะเป็นผลดีที่สุด
5. พาไปพบจิตแพทย์เด็ก
- บางคนมักคิดว่าการไปพบจิตแพทย์หมายถึงการมีปัญหาทางด้านอารมณ์อย่างเดียว แต่จิตแพทย์สามารถช่วยเหลือได้ทั้งปัญหาทางอารมณ์และพัฒนาการการเรียนรู้ต่างๆ ดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติอย่างยิ่งเมื่อลูกมีปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆ คือการพาลูกไปพบจิตแพทย์เด็ก เพราะจิตแพทย์สามารถช่วยปรับพฤติกรรมให้ได้ จึงควรรีบพาลูกไปพบจิตแพทย์เด็กเพื่อให้ความช่วยเหลือให้เร็วที่สุด
ท้ายสุดนี้อยากให้คุณพ่อคุณแม่หมั่นคอยสังเกตดูพฤติกรรมของลูกว่ามีความบกพร่องทางการอ่านและการเขียนหรือไม่ เพราะถ้ายิ่งสังเกตพบได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งแก้ไขได้เร็ว เท่านั้น
ภาพ http://floridafamilyliving.com/wp-content/uploads/2012/01/education-boy-2.jpg