xs
xsm
sm
md
lg

หมอจุฬาฯ หนุนปลดล็อก “กัญชา” ยาเสพติดประเภท 2 นำมาใช้ทางการแพทย์เร็วขึ้น ยันไม่กระทบระบบประสาทระยะยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หมอจุฬาฯ เห็นด้วยหากปลดล็อก “กัญชา” เป็นยาเสพติดประเภท 2 ช่วยนำมาใช้ทางการแพทย์เร็วขึ้น ยันไม่ส่งผลกระทบระบบประสาทในระยะยาว มีงานวิจัยชัดเจน แต่ช่วยโรคจากระบบประสาท ทั้งลมชัก พาร์กินสัน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในฐานะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กล่าวถึงกรณี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ยังไม่ต้องใช้ ม.44 ปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์ แต่สามารถแก้กฎกระทรวง หรือทำตามกฎหมายปกติได้ ว่า หากใช้กฎกระทรวง หรือแนวทางการพิจารณาจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามเปลี่ยนแปลงประเภทของสารสกัดกัญชา จากสารเสพติดประเภทที่ 5 เป็นประเภท 2 เพื่อให้นำมาใช้ทางการแพทย์นั้น ตนก็เห็นด้วย เพราะจะรวดเร็วขึ้น เนื่องจากสามารถลงนามในประกาศกระทรวงฯได้ในเดือนพฤศจิกายน ที่จะมีการประชุมขของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และรอประกาศใช้คาดว่าประมาณเดือนมกราคม 2562 ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ผู้ป่วยจะได้รับโอกาสในการรักษาผู้ป่วยเสียที

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือ หากมีการเปลี่ยนเป็นประเภทที่ 2 แล้ว เมื่อทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตน้ำมันกัญชาออกมาได้ในเดือนมกราคม แต่จะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นยาก่อนกับทาง อย. ซึ่งตรงนี้ที่กังวลเล็กน้อย คือ ส่วนผสมอาจไม่สามารถบอกชัดเจนว่า สารสำคัญอย่าง THC และ CBD โดยสารทั้งสองชนิดจะอยู่คู่กัน แต่จะบอกแบบตรงๆ ว่า จำนวนมากน้อยเท่าไหร่อาจไม่ได้ทั้งหมด เพราะอยู่ที่การบำบัดรักษาแต่ละกลุ่มโรค แต่แจ้งคร่าวๆ ได้ ซึ่งไม่ต้องกังวลตรงจุดนี้ การนำมาใช้มีการควบคุมปริมาณโดยรวมอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามกรณีเคยมีข่าวในต่างประเทศ ว่า หากใช้กัญชามากๆ อาจกระทบต่อระบบประสาทระยะยาว ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ไม่จริง เนื่องจากมีข้อมูลงานวิจัยชัดเจนจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งวิจัยในคนกว่า 1,000 คนพิสูจน์แล้วว่า อาการทางจิตเวชไม่ได้เกิดจากกัญชา แต่ในทางกลับกันนำมารักษาโรคต่างๆ ได้ ทั้งพาร์กินสัน ลมชัก เป็นต้น ซึ่งขอยืนยันว่า การใช้สารสกัดกัญชาเป็นไปในทางการแพทย์ และการใช้ก็เป็นการใช้ที่ควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน เป็นการเสริมการรักษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น