ประธานคณบดีครุฯ/ศึกษาฯ มรภ.ย้ำ จุดยืนผลิตครูที่เหมาะสมต้องเรียน 5 ปี ให้ได้ครูคุณภาพเป็นเลิศ เผย กลุ่มราชภัฏมีนัดประชุมอีกครั้ง เก็บข้อมูลที่ใดบ้างสอน 4 ปีวันที่ 26 ต.ค.นี้ ชี้ แนวโน้มอาจต้องสอน 4 ปี เพราะเป็นนโยบาย แนะหลักสูตร 4 ปี ทำได้ แต่ต้องเรียน 3 ภาคเรียนต่อปี
วันนี้ (20 ต.ค.) ดร.ดิเรก พรสีมา คณบดีวิทยาฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พระนคร ในฐานะประธานที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ของ มรภ. กล่าวถึงกรณีที่มีนโยบายปรับลดการสอนหลักสูตรครูจาก 5 ปี เหลือ 4 ปี โดยเริ่มในกลุ่ม มรภ.และมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมในปีการศึกษา 2562 นี้ ว่า ที่ประชุมคณบดีคณะครุฯ/ศึกษาฯของ มรภ.ทั้ง 38 แห่ง ได้มีความเห็นตรงกันว่าการสร้างบัณฑิตครูให้มีคุณภาพเป็นเลิศ ระยะเวลาที่เหมาะสมในการจัดการศึกษา คือ 5 ปี จำนวน 170 หน่วยกิต ใน 53 วิชา แบ่งเป็น วิชาเอก 26 วิชา, วิชาครูและพื้นฐาน 27 วิชา ซึ่งนักศึกษาได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะ คุณลักษณะตามที่กำหนด และการเรียนบางวิชานักศึกษาจะต้องผ่านการเรียนในสถานปฏิบัติงาน หรือโรงเรียน ตรงนี้ไม่ใช่การฝึกสอนแบบทั่วๆ ไป แต่เป็นการที่นักศึกษาต้องลงไปสังเกตการสอน ทำวิจัยชั้นเรียน ไปเป็นผู้ช่วยครูในโรงเรียนนั้นๆ โดยมีอาจารย์ผู้สอนประกบตลอดเวลา
“ในความเห็นของกลุ่มคณบดีคณะครุฯ/ศึกษาฯ มรภ.ยังยืนยันว่า ควรสอนหลักสูตร 5 ปี แต่ขณะนี้ก็เริ่มมีการพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรถ้าให้กลับไปสอนหลักสูตร 4 ปี เพราะหลังจากประชุมมอบนโยบายแก่ มรภ.วันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็มีแนวโน้มว่าจะต้องปฏิบัติตาม เพราะเรื่องนี้ถือเป็นนโยบายถ้ามหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามก็คงไม่ได้ นอกจากนี้ ทราบมาว่าได้มีการประสานมายังที่ประชุมอธิการบดี มรภ.เพื่อขอให้นัดประชุมกับกลุ่ม มรภ.อีกครั้ง เพื่อสอบถามเรื่องการกลับไปใช้หลักสูตร 4 ปี ในวันที่ 26 ต.ค.นี้ ซึ่งกลุ่มคณบดีฯส่วนใหญ่ก็บอกว่าถ้าอธิการบดีมีคำสั่งให้ไปร่วมประชุมก็ไปเพราะเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนถ้าไปแล้วจะทำหรือไม่ทำก็อีกเรื่องหนึ่ง” ดร.ดิเรก กล่าว
ดร.ดิเรก กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ใช้หลักสูตร 4 ปี ก็ทำได้แต่ส่วนเห็นว่าถ้าจะสอน 4 ปีแล้วได้บัณฑิตครูคุณภาพเลิศ ก็ต้องเรียนปีละ 3 ภาคเรียน คือเรียนช่วงซัมเมอร์ด้วยเพื่อใช้ช่วงเวลานั้นเติมเต็มและพัฒนาศักยภาพครู เพราะการสั่งสมความรู้ เช่น การสร้างจิตวิญญาณความเป็นครู ไม่สามารถทำได้เพียงแค่การนั่งอยู่ที่ในห้องเรียนของมหาวิทยาลัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ดร.ดิเรก ได้ส่งหนังสือเปิดผนึกลงวันที่ 17 ต.ค. เรื่อง ข้อเสนอการผลิตครูคุณภาพเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ถึง ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ โดยหนังสือระบุว่า ตามที่คณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการผลิตครูคุณภาพเป็นเลิศ โดยมี ผศ.ดร.วีระสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ มาร่วมดำเนินการพัฒนาหลักสูตร และมีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับนั้น เนื่องจากมีข้อคิดเห็นที่ยังไม่ตรงกันในกลุ่มคณบดีและอธิการบดีเกี่ยวกับระยะเวลาในการผลิตครู จึงได้มีการหารือในประเด็นนี้เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2561 ที่ห้องประชุมที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ อาคารรัชมังคลาภิเษก 2 กระทรวงศึกษาธิการ
และในการหารือกันในวันนั้น มติของที่ประชุมคณบดีทั้ง 38 แห่ง ได้ยืนยันในหลักการและกระบวนการผลิตครูคุณภาพเป็นเลิศ โดยมีระยะเวลา 5 ปี จำนวนหน่วยกิต ไม่น้อยกว่า 160 หน่วยกิต และมีการประกันการมีงานทำในลักษณะเดียวกันกับโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถ่ินของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ไม่ได้รับการนำไปประกอบการพิจารณาและตัดสินของประธานที่ประชุมในวันนั้นแต่อย่างใด แต่มีการสรุปผลการประชุม โดยยึดตามข้อเสนอของอธิการบดีบางท่าน
หนังสือดังกล่าวระบุต่อว่า คณบดีคณะครุศาสตร์ ทั้ง 38 แห่ง จึงได้ประชุมและหารือกันถึงแนวทางการผลิตครูคุณภาพเป็นเลิศ หลังจากการประชุมเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2561 อีกครั้ง และมีข้อสรุปว่าการจะพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศไทย 4.0 จะต้องพัฒนาให้คนไทยเป็น คนไทย 4.0 ซึ่งผู้ที่จะพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นคนไทย 4.0 ได้ในอนาคต คือ ครู โดยครูต้องมีคุณภาพเป็นเลิศ เป็นครู 4.0 เป็นบัณฑิตครู 4.0 จำเป็นต้องมีคุณลักษณะและสมรรถนะ เนื้อหา และกิจกรรมการเรียนการสอน ที่จำเป็นสำหรับครูไทยในศตวรรษที่ 21 นั้น ต้องเรียนจำนวน 170 หน่วยกิต ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนและการฝึกปฏิบัติการในโรงเรียนรวมทั้งสิ้น 5 ปี ที่ประชุมคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เห็นว่า ระยะเวลาที่เหมาะสมจะส่งผลต่อคุณภาพในการผลิตให้เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งความรู้ ทักษะ คุณลักษณะความเป็นครูที่ดี มีจิตวิญญาณครู ถ้าลดระยะเวลาเรียนให้น้อยกว่า 5 ปี จะส่งผลกระทบต่อการเรียนทั้งเนื้อหาวิชาเอก วิชาชีพครู แลการฝึกปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา ซึ่งจะก่อให้เกิดความล้มเหลวในการดำเนินการผลิตครูคุณภาพเป็นเลิศในอนาคคต และหลักสูตรครู 5 ปีในปัจจุบันก็ไม่ได้มีปัญหาเชิงคุณภาพเช่นในอดีตที่มีการผลิตครูในหลักสูตร 4 ปี แล้วเกิดวิกฤตศรัทธา และการผลิตครู 5 ปี ก็สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องปรับแก้กฎหมายแต่อย่างใด และมีแนวทางสร้างคุณภาพให้สูงขึ้นได้ด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้เรียน โดยการประกันการมีงานทำ เช่นเดียวกับโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถ่ิน ด้วยเหตุผลดังกล่าวที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ทั้ง 38 แห่ง ในฐานะผู้อยู่ใกล้ชิดและรับผิดชอบโดยตรงในการผลิตครูมายาวนาน จึงมีมติให้ทำหนังสือเรียนมายัง รมช.ศึกษาธิการ เพื่อยืนยันในมติข้างต้น และโปรดนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาและดำเนินการต่อไป