ศธ.-ซีพี ออลล์ จับมือร่วมผลิตบัณฑิตพรีเมียมในกว่า 70 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ในหลายสาขา อาทิ นวัตกรรมการค้า การตลาด ค้าปลีก เทคโนโลยีไฟฟ้า เริ่มจัดการสอนปีการศึกษา 2562
วันนี้ (19 ต.ค.) ที่หอประชุมคุรุสภา มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือโครงการความร่วมมือภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมผลิตบัณฑิตพรีเมียม ระหว่าง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กับสถาบันการอาชีวศึกษาและสถาบันอุดมศึกษา รวมกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ โดย ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมชศึกษาธิการ กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธี ว่า ความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ บมจ.ซีพี ออลล์ เพื่อร่วมกันผลิตบัณฑิตพรีเมียมนับเป็นอีกก้าวสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นในการขยายไปสู่สาขาอื่นๆของวิทยาลัยสังกัด สอศ.กว่า 400 แห่ง ยังช่วยลดช่องว่างทางการศึกษาแก่คนที่ขาดโอกาสได้เข้าสู่ระบบการศึกษาซึ่งที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้พยายามขยายและพัฒนาการเรียนการสอนระดับอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล พัฒนาหลักสูตรพรีเมียม อาทิ ประสานกับสถาบันโคเซนนำหลักสูตรมาใช้จัดการศึกษา
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาจะไม่มีทางสำเร็จหากขาดภาคเอกชน สถานประกอบการมาร่วมสนับสนุน เนื่องจากหลักสูตรพรีเมียมเน้นให้ผู้สำเร็จการศึกษา ต้องมีคุณภาพมาตรฐานสากล มีสมรรถนะตรงกับที่สถานประกอบการ จบการศึกษาสามารถทำงานได้ทันทีไม่จำเป็นต้องไปฝึกปฏิบัติงานใหม่ ซึ่งในหลักสูตรกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องปฏิบัติงานในสถานประกอบอย่างน้อย 50% ตรงนี้เป็นจุดเด่นของหลักสูตร
“เราต้องการสร้างเด็กที่คิดเป็น วิเคราะห์เป็น และคิดต่อยอดได้ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นโดยผ่านการเรียนจากการลงมือทำงานจริง ในสถานที่จริงซึ่งภาคเอกชน สถานประกอบการจะเป็นกำลังสำคัญที่เข้ามาร่วมพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์กับความต้องการ รวมถึงครูผู้สอนก็ต้องปรับบทบาท พัฒนาตนเองด้วย ทั้งนี้ โครงการนี้ตอบโจทย์ยกระดับศักยภาพ เศรษฐกิจประเทศและความร่วมมือวนกลไกประชารัฐ” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
ด้าน นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ซีพี ออลล์ ให้ความสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานการศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน สามารถจัดการศึกษาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและผลิตกำลังคนได้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการซึ่งการร่วมกันผลิตบัณฑิตพรีเมียมครั้งนี้ เพื่อการพัฒนาและผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรีให้มีคุณภาพสูงและมีศักยภาพตรงตามความต้องการของประเทศและสถานประกอบการอย่างเป็นระบบ ในหลักสูตรการศึกษาด้านการจัดการนวัตกรรมการค้า, การตลาด, การจัดการธุรกิจค้าปลีก, เทคโนโลยีไฟฟ้า และ ด้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยการเรียนรู้และฝึกปฎิบัติในสถานประกอบการจริงในรูปแบบของ Work-Integrated Learning (WIL) ซึ่งจะเริ่มในปีการศึกษา 2562
สำหรับสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วม ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 7 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม วิทยาลัยเชียงราย สถาบันเทคโนโลยียานยนต์มหาชัย และวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)