“ธีระเกียรติ” ออกโรงปราม “ผอ.โรงเรียน” ชุดใหม่ ย้ำชัดนโยบายรับนักเรียนปี 62 สุจริต โปร่งใส เป็นธรรม ไม่รับเงิน ชี้ ดู “สามเสนฯ” เป็นตัวอย่าง พร้อมกำชับ สพฐ.เกณฑ์รับนักเรียนปีหน้าต้องไม่ทำให้ทุกคนเดือดร้อนแบบปีที่ผ่านมา
วันนี้ (18 ต.ค.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดกรุงเทพมหานคร (กศจ.กรุงเทพฯ) มีมติแต่งตั้งผู้บริหารสถานศึกษา ในตำแหน่งที่ว่าง ประจำปี 2561 ของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 50 ราย แบ่งเป็น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) กทม. 1 และ สพม.2 จำนวน 45 ราย และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กรุงเทพฯ จำนวน 5 ราย ว่า ขอแสดงความยินดีกับทุกคน แต่ส่วนตัวอยากจะขอปรามไว้ก่อนว่านโยบายของตน โดยเฉพาะเรื่องการรับนักเรียนยังคงเหมือนเดิม คือ ต้องเป็นธรรม โปร่งใส ไม่มีการเรียกรับเงิน หรือ แปะเจี๊ยะ กรณีรับเด็กเงื่อนไขพิเศษก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้ ขอให้นำกรณีโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยเป็นตัวอย่าง เพราะก็ใกล้ช่วงรับนักเรียนปีการศึกษา 2562 แล้ว
“เรื่องนี้พาดหัวข่าวใหญ่โตไม่ต่างกับข่าวโผทหาร ตำรวจ แต่ผมอยากปรามไว้ก่อนทั่วๆ ไป เพราะคนที่อยู่ตำแหน่งนี้มีความรับผิดชอบสูง นอกจากที่คัดกันมารู้ว่ามีความรู้ ความสามารถ เรื่องวิชาการต้องไปแข่งขันกันนั่นเรื่องหนึ่ง แต่นโยบายผมเรื่องรับนักเรียนชัดเจนปีนี้ต้องสุจริต อย่าให้มีเรื่องที่คนจะครหากันว่าอยากเป็นโรงเรียนใหญ่ๆ เงินได้สะพัด เพราะจะมีการเรียกผลประโยชน์ ซึ่งผมได้กำชับเรื่องนี้ผ่าน ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ไปแล้ว ตอนนี้ก็ขอปรามอีกทีผ่านสื่อด้วย” นพ.ธีระเกียรติ กล่าวและว่า ส่วนที่มองว่าการแต่งตั้งครั้งนี้บางคนมาจากโรงเรียนขนาดกลางมาอยู่ในโรงเรียนขนาดใหญ่ เท่าที่ตรวจสอบและได้รับรายงานก็พบว่าทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ ที่ผ่านมามีข่าวโจมตีมีบ้างเล็กๆ น้อยๆ ตามประสาของคนที่ได้บ้างไม่ได้บ้าง อย่างกรณีโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ทั้ง 2 ราย ก็เป็นที่ยอมรับ ส่วนนายโสภณ กมล ผอ.โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม ที่ได้รับคัดเลือกเป็น ผอ.โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก็มีผลงานเป็นที่ยอมรับจากคนทำงานด้วยกัน คณะกรรมการโรงเรียนพึงพอใจตรงนี้ก็ต้องให้ความยุติธรรม
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า สำหรับเกณฑ์การรับนักเรียน ปีการศึกษา 2562 ได้กำชับว่าหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ออกมานั้น จะต้องไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนเหมือนกับปีที่ผ่านมา กลุ่มศิษย์เก่าที่มีสิทธิอะไรที่เคยได้ควรจะมีอยู่ ขณะที่ ถ้าจะมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่ๆ ก็ต้องคิดให้รอบคอบ เช่น ให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สามารถสอบก่อนได้คือเรื่องหนึ่ง แต่ก็ต้องคิดถึงเด็กที่ไม่มีโอกาสได้เข้ามาสอบด้วย ตรงนี้ สพฐ.ก็กำลังดูแลอยู่ เพราะฉะนั้น อย่าเปลี่ยนจนทำให้เขาเสียสิทธิ หรืออาจจะมีสิทธิใหม่ อย่าปฏิรูปอะไรจนเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือและประชาชนเขารับไม่ได้ แล้วชาวบ้านพูดว่าเปลี่ยนทุกปีเขาก็พูดถูก