ในอดีตเวลาพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เราจะนึกถึงเด็กเมืองกรุงและเด็กชนบท โดยมองเรื่องพื้นที่และโอกาสการเข้าถึงการศึกษา ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองพยายามส่งลูกไปเรียนในตัวเมืองหรือเมืองกรุง เพราะคิดว่าเป็นการศึกษาที่ดีที่สุดสำหรับลูก
แต่ยุคปัจจุบันเมื่อพื้นที่ และโอกาสการเข้าถึงการศึกษาถูกทะลายด้วยการจัดสรรเข้าไปหาถึงที่ ขอเพียงให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีเงินก็สามารถเข้าถึงการศึกษาในรูปแบบที่อยากได้
กลายเป็นว่าเรื่องฐานะความมั่งมีและยากจน เป็นปัญหาที่ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่นับวันยิ่งถ่างและห่างออกไปทุกขณะ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบการศึกษาในบ้านเราที่พึ่งพาการกวดวิชาแทบจะทุกระดับ
นับวันสถาบันกวดวิชาขยายสาขาเพิ่มมากขึ้นราวกับร้านสะดวกซื้อ อันเนื่องมาจากต้องการตอบสนองค่านิยมทั้งของผู้ปกครองและเด็กที่ต้องการเรียนกวดวิชา ทั้งอยากได้เคล็ดลับเทคนิคสารพัดเพื่อเป้าหมายให้ได้ไปต่อในสถานศึกษาที่ต้องการ
คำถามก็คือ ระบบการศึกษาในบ้านเรา ทำไมนักเรียนไม่สามารถเรียนรู้เรื่องวิชาการได้เพียงพอภายในห้องเรียน
พ่อแม่ ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าถ้าเด็กที่เรียนตามระบบและไม่ได้กวดวิชา ก็อาจกลายเป็นเด็กเรียนอ่อนในชั้นเรียน เพราะเด็กที่เรียนเก่ง ล้วนแล้วต้องไปกวดวิชา บางคนส่งลูกเรียนพิเศษตั้งแต่เล็กจนกลายเป็นวิถีชีวิต เพราะไม่มีชีวิตปิดเทอม
ในขณะที่เด็กเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กชนชั้นกลางขึ้นไป เพราะปัจจุบันสถาบันกวดวิชาแต่ละแห่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก บางแห่งสูงกว่าการเรียนในระบบอีกต่างหาก
แล้วเด็กที่ไม่ได้เรียนกวดวิชาล่ะ ?
แล้วเด็กที่พ่อแม่ไม่มีความสามารถเรื่องค่าใช้จ่ายล่ะ ?
ก่อนหน้านี้มีข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประมาณการมูลค่าตลาดธุรกิจกวดวิชาในบ้านเรา ทั้งในส่วนของการเรียนกวดวิชาในรูปแบบโรงเรียนกวดวิชา และติวเตอร์อิสระที่สอนแบบตัวต่อตัวหรือสอนเป็นกลุ่มในปี 2558 ไว้ที่ 8,000 กว่าล้านบาท
นั่นหมายความว่า ยิ่งโรงเรียนกวดวิชาเติบโตมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการสะท้อนว่าการศึกษาในระบบมีปัญหามากเท่านั้น เพราะเด็กนักเรียนเรียนในระบบอย่างเดียวไม่พอ
ผลกระทบก็คือ พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องจ่ายเงินทั้ง 2 ทาง !
เด็กกลุ่มเหล่านี้มีต้นทุนทางฐานะเศรษฐกิจที่ดี มีทางเลือกทางการศึกษาค่อนข้างมาก ในขณะที่เด็กที่มีต้นทุนทางครอบครัวปานกลางถึงยากจนกลับไม่มีทางเลือกเรื่องการศึกษาในชีวิต หรือมีก็น้อยกว่า
สถานการณ์กลับกลายเป็นว่ายิ่งกวดวิชาเท่าไร ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก !!
ล่าสุดบีบีซีได้นำเสนอรายงานของสำนักงานวิจัยทางเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐฯ National Bureau of Economic Research (NBER) โดยระบุว่า "ทุนชีวิต" ในรูปแบบของพันธุกรรมคุณภาพดี ซึ่งเอื้อให้บุคคลมีความฉลาดและความสามารถสูงนั้น มีการกระจายตัวอย่างเท่าเทียมทั้งในกลุ่มลูกของครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ และในกลุ่มลูกของครอบครัวที่มีรายได้สูง แต่โอกาสประสบความสำเร็จในการเรียนระหว่าง 2 กลุ่มดังกล่าวกลับไม่เท่าเทียมกัน
โอกาสประสบความสำเร็จทางการศึกษาในกลุ่มประชากรที่มีคุณภาพทางพันธุกรรมใกล้เคียงกันขึ้นอยู่กับฐานะความมั่งคั่งของแต่ละครอบครัวเสียยิ่งกว่าพันธุกรรมที่กำหนดระดับความฉลาดของแต่ละคนมาด้วยซ้ำ
ศ.เควิน ทอม นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก หนึ่งในทีมวิจัยของ NBER บอกว่า "ความเชื่อที่ว่าคนในตระกูลร่ำรวยกับครอบครัวที่ยากจนมีพันธุกรรมด้านความฉลาดแตกต่างกันนั้น ไม่เป็นความจริงอย่างสิ้นเชิง"
ผลวิจัยพบว่า แม้แต่คนที่มีความสามารถน้อยที่สุดจากครอบครัวร่ำรวย ก็สามารถสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีได้ในอัตราที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้มีความสามารถมากที่สุดจากครอบครัวยากจน
ทีมผู้วิจัยค้นพบแนวโน้มข้างต้น จากการวิเคราะห์ข้อมูลของงานวิจัยทางพันธุศาสตร์ก่อนหน้านี้ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Genetics โดยงานวิจัยดังกล่าวมุ่งหาความสัมพันธ์ระหว่างยีนและระดับชั้นที่บุคคลจะสามารถสำเร็จการศึกษาได้ ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมของกลุ่มตัวอย่างกว่า 1.1 ล้านคน
ในบรรดาผู้ที่มีคะแนนคุณภาพพันธุกรรมใกล้เคียงกัน ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ฉลาดสูงสุด 25 % แรกของกลุ่ม ปรากฏว่าคนที่บิดามีฐานะยากจนสามารถเรียนจบขั้นอุดมศึกษาได้เพียง 24 % ในขณะที่คนซึ่งบิดามีรายได้สูงสามารถเรียนจบขั้นอุดมศึกษาได้ถึง 63 %
ศ.นิโคลัส พาพาจอร์จ จากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมทีมวิจัยของ NBER บอกว่า "สังคมต้องสูญเสียศักยภาพของผู้มีความสามารถแต่ฐานะยากจนเหล่านี้ไปโดยเปล่าประโยชน์ เรื่องนี้ไม่เป็นผลดีต่อตัวพวกเขาเองและต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ใครจะรู้ว่าหากพวกเขาได้เล่าเรียนในระดับสูง ในวันหนึ่งอาจเป็นผู้ค้นพบวิธีรักษามะเร็งก็เป็นได้
เห็นงานวิจัยชิ้นนี้ก็ทำให้สะท้อนถึงบ้านเราต่อความเชื่อที่ว่าถึงแม้ยากจนแต่เรียนดีก็ยังได้ไปต่อแน่นอน เพราะมีทุนการศึกษามากมาย เป็นจริงเช่นนั้นหรือ
อย่าลืมว่ามีทุนการศึกษากี่ทุน เมื่อเทียบว่าบ้านเรามีเด็กยากจนกี่คน !
ถึงเวลาที่เราต้องยอมรับความจริงว่าสถานการณ์นี้ในบ้านเราหนักหน่วงจริง ๆ
การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องเร่งสร้างความเท่าเทียมให้เด็กทุกคน มิใช่เพียงให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้เท่านั้น แต่ต้องทำให้สามารถเข้าถึงการศึกษา “ที่ดี” ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กมั่งมีหรือยากจน