ทุกปีมีเด็กจบใหม่มากมาย แล้วอะไรที่จะเป็นตัวตัดสินเด็กจบใหม่ ว่าใครเหมาะสมที่จะได้งานมากกว่ากัน ? หลายคนอาจจะบอกว่าผลการเรียน ประสบการณ์การทำกิจกรรม รวมไปถึงชื่อเสียงของคณะ และมหาวิทยาลัยที่จบมา แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจจะมองข้าม ก็คือทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ เพราะด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การติดต่อสื่อสารงานของบริษัทต่างๆ มีความเป็นสากลมากขึ้น นายจ้างจะมองหาเด็กจบใหม่ที่มีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ดีเป็นพิเศษ ดังนั้น มหาวิทยาลัย ได้เตรียมความพร้อมด้านภาษาเพื่อให้บัณฑิตหางานได้ง่ายขึ้นและตอบโจทย์ผู้ประกอบการ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ มีหลักสูตรนานาชาติ 7 หลักสูตร มารองรับเด็กรุ่นใหม่
จีนศึกษา (Chinese Studies) วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ - หลายคนคงเคยได้ยินว่า สมัยนี้เรียนแค่สองภาษา คือ ภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ ถือว่าไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว หากใครได้ภาษาที่สาม จะถือว่ามีโอกาสหรือมูลค่าเพิ่มที่มากกว่าคนอื่น โดยเฉพาะการเรียนภาษาที่สามที่มีคนใช้สื่อสารมากที่สุดในโลกถึง 1.2 พันล้านคน อย่างภาษาจีนกลาง ยิ่งถือว่าเป็นการเรียนภาษาที่สามารถต่อยอดโอกาสในการทำงานในอนาคตได้อย่างมาก อีกทั้งความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจของจีน ที่ได้รับฉายาว่า “พญามังกรแห่งเอเชีย” เนื่องจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะก้าวกระโดดแซงอเมริกาในปี 2032 ดังนั้น ใครที่เห็นว่าจีนเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการเปิดสอนหลักสูตรจีนศึกษา โดยที่จะได้เรียนทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง ภาษา และวัฒนธรรมเกี่ยวกับจีน นอกจากนี้หากเรียนหลักสูตรจีนศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ในปีที่ 3 จะได้มีโอกาสไปศึกษาแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยคู่สัญญาในประเทศจีน ที่มีชื่อเสียงอันดับหนึ่งอย่างมหาวิทยาลัยปักกิ่ง หรือมหาวิทยาลัยอื่นๆ อย่างมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ มหาวิทยาลัยฟูดั้น เป็นต้น เรียกได้ว่าตลอด 4 ปี จะได้เรียนทุกๆ ด้านเกี่ยวกับจีนอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งได้รับประสบการณ์จากการไปศึกษาแลกเปลี่ยนที่จีนอีกด้วย
อินเดียศึกษา (India Studies) วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ - เชื่อหรือไม่ว่าอินเดีย เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลก แซงหน้าฝรั่งเศสซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจมายาวนานอย่างไม่น่าเชื่อ อีกทั้งโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียยังไม่หยุดแค่นี้ มีการคาดการณ์ว่า อินเดียกำลังจะทะยานขึ้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกในไม่ช้า ในด้านของภาษา ภาษาฮินดีซึ่งเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารมากที่สุดในประเทศอินเดีย อีกทั้งเป็นภาษาที่ถูกใช้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก โดยปัจจุบันมีผู้ใช้ภาษานี้กว่า 260 ล้านคน และในประเทศไทยยังถือว่ามีคนรู้ภาษารวมถึงวัฒนธรรมต่างๆ ของอินเดียน้อยมาก ในขณะที่อินเดียเป็นประเทศที่กำลังเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับไทย วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับอินเดีย จึงได้เปิดหลักสูตรอินเดียศึกษา เพื่อตอบสนองความต้องการศึกษาในพื้นที่เฉพาะอย่างอินเดีย ทั้งแง่มุมด้านเศรษฐกิจ การเมือง ภาษาและวัฒนธรรม ผ่านคณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านอินเดียศึกษา ทั้งอาจารย์จากธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญโดยตรงชาวอินเดีย อีกทั้งเมื่อศึกษาในชั้นปีที่ 3 นักศึกษาก็จะมีโอกาสไปศึกษาแลกเปลี่ยนที่ประเทศอินเดีย ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น Chandigarh University, Aligarh Muslim University และ Lovely Professional University เป็นต้น ใครที่อยากเรียนในสาขาที่ใหม่สำหรับเมืองไทย พร้อมโอกาสไปแลกเปลี่ยนในดินแดนสุดชิคอย่างอินเดียที่น้อยคนจะมีโอกาสได้ไปเรียน รับรองว่าหลักสูตรอินเดียศึกษา จะเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับคนที่เปิดใจเรียนอินเดียอย่างแน่นอน
ไทยศึกษา (Thai Studies) วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ - หลักสูตรไทยศึกษา ที่มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ใช่แล้วล่ะ คนที่เรียนหลักสูตรนี้จะได้เรียนเกี่ยวกับเนื้อหาพัฒนาการความเป็นมาทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม รวมทั้งประวัติศาสตร์ของไทย ประยุกต์เข้ากับบริบทของโลกปัจจุบัน เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด หลักสูตรนี้คนที่เรียนส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาชาวต่างชาติที่สนใจบริบทความเป็นไทย แต่ก็มีคนไทยที่เรียนหลักสูตรนี้เช่นกัน หลายคนอาจตั้งคำถามว่า เป็นคนไทยแล้วจะเรียนไทยศึกษาไปทำไม การเรียนไทยศึกษาก็เพื่อทำความเข้าใจบริบททางสังคมของไทยที่มีความซับซ้อน ผ่านการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้ที่ศึกษาสามารถนำความรู้เกี่ยวกับบริบทสังคมไทย ไปประยุกต์ใช้กับบริบทโลก และสามารถถ่ายทอดให้กับชาวต่างชาติได้รับรู้ถึงความเป็นไทยที่ลึกซึ้ง สำหรับหลักสูตรไทยศึกษา เป็นหนึ่งในหลักสูตรของวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ซึ่งในหลักสูตรนี้ ผู้เรียนสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการศึกษาแลกเปลี่ยนในมหาวิทยาลัยคู่สัญญาอย่าง University of California หรือมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงได้ หรือการไปศึกษาหลักสูตรสองปริญญา (Double Degree) ณ มหาวิทยาลัยคู่สัญญา คือ School of Oriental and African Studies (SOAS) University of London โดยจะต้องศึกษาที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ 2 ปี และที่มหาวิทยาลัยคู่สัญญาอีก 2 ปี
อังกฤษ-อเมริกันศึกษา (British & American Studies: BAS) คณะศิลปศาสตร์-หลักสูตรนานาชาตินี้ เหมาะกับคนที่สนใจทั้งสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะคนที่ชอบเรียนภาษาอังกฤษ เพราะที่นี่จะได้เรียนอังกฤษทั้งในแบบฉบับอเมริกัน และอังกฤษแท้ๆ โดยเน้นทั้งด้านภาษาและวรรณคดี ซึ่งแน่นอนว่าจะได้อ่านวรรณกรรมอังกฤษเยอะเลยล่ะ นอกจากนี้ ด้วยความที่ทั้งสองประเทศเป็นมหาอำนาจของโลกมาอย่างยาวนาน จึงมีแง่มุมทั้งด้านอิทธิพลทางการเมือง และวัฒนธรรมทั้งอังกฤษและอเมริกาให้ศึกษาในหลักสูตรนี้ โดยคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากทั้งธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง Oxford และ Yale เป็นต้น เรียกได้ว่าสิ่งที่จะได้จากการเรียนหลักสูตรนี้ จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาอังกฤษ อีกทั้งรู้จักแง่มุมต่างๆ ของทั้งอังกฤษและอเมริกาอย่างลึกซึ้งแน่นอน
บัญชีและบริหารธุรกิจหลักสูตรนานาชาติ (The Bachelor's degree in Business Administration: BBA) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี - สำหรับคนที่สนใจด้านบัญชี และอยากทำงานในบริษัท Big4 หรือบริษัทอินเตอร์ต่างๆ ที่นี่ตอบโจทย์อย่างมาก เพราะเรียนด้วยหลักสูตรภาษาอังกฤษตลอด 5 ปี ใช่แล้วล่ะ ฟังไม่ผิด ที่นี่เรียน 5 ปี แต่ได้ทั้งวุฒิปริญญาตรีควบปริญญาโทเลยนะ ถือว่าคุ้มสุดๆ โดยจุดเด่นของหลักสูตร BBA ที่ธรรมศาสตร์นั้น มุ่งผลิตบัณฑิตที่เป็นผู้บริหารองค์กรหรือเจ้าของธุรกิจ โดยมี 3 สาขาให้เลือกเรียน ได้แก่ การบัญชี การเงิน และการตลาด อีกจุดเด่นของที่นี่คือเป็นหลักสูตร BBA ที่แรกของไทย ดังนั้น มั่นใจเรื่องชื่อเสียงที่ไม่เป็นรองใครในประเทศไทยแน่นอน
กฎหมายธุรกิจ (Bachelor of Law Program in Business Law: LLB) คณะนิติศาสตร์ - หากพูดถึงคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แน่นอนว่าเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่ามีชื่อเสียงมายาวนาน โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตที่จบออกมาเป็นทนายความ ผู้พิพากษา แต่สำหรับหลักสูตร LLB จะเน้นการเรียนการสอนในกฎหมายเชิงธุรกิจ กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ กฎหมายอาเซียน รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะเห็นว่าหลักสูตร LLB มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตไปทำงานในสำนักกฎหมายและทนายความ (Law Firm) โดยเฉพาะองค์กรที่มีบริการเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่สนใจทำงานด้านกฎหมายในสายเอกชน และอินเตอร์ อีกทั้งยังได้เรียนในคณะที่ขึ้นชื่อว่าเป็นคณะก่อตั้งเป็นคณะแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย ดังนั้น การันตีเรื่องชื่อเสียงด้านนิติศาสตร์อันดับต้นๆ ของเมืองไทยอย่างแน่นอน
การเมืองและการระหว่างประเทศ (The Bachelor of Political Science Programme in Politics and International Relations: BIR) คณะรัฐศาสตร์ - ขึ้นชื่อว่าธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทางด้านการเมือง ถึงขนาดเคยมีชื่อว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง แน่นอนว่าการเรียนในคณะที่มุ่งเน้นศึกษาด้านการเมืองโดยเฉพาะอย่างคณะรัฐศาสตร์ หรือ “สิงห์แดง” จะได้รับความรู้ที่เข้มข้นตามแบบฉบับธรรมศาสตร์อย่างแน่นอน โดยหลักสูตร BIR จะได้เรียนทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไปพร้อมกับการเมืองการปกครอง โดยการเรียนการสอนทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ เรียกว่าเป็น “ สิงห์แดง” ที่มีความอินเตอร์มากขึ้น ครบทั้งความรู้และภาษา พร้อมใช้งานทีเดียว
เป็นอย่างไรกันบ้าง 7 หลักสูตรอินเตอร์ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์เหล่านี้ เรียกได้ว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ สำหรับน้องๆ มัธยมปลายที่สนใจติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ http://www.pbic.tu.ac.th สอบถาม โทร. 0-2613-3701 หรือเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/pbic.tu