ศจย.ชี้ผลวิจัยพบนักสูบฝ่ายฝืนสูบบุหรี่บนรถไฟและชานชาลากว่า 70% สาย กทม.-หาดใหญ่-สุราษฎร์ฯ ครองแชมป์สูบ 88 รายต่อขบวน พบ 80% ไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ
พญ.เริงฤดี ปธานวนิช รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า จากผลสำรวจพฤติกรรมการสูบและขายบุหรี่บริเวณชานชาลาและบนขบวนรถไฟในประเทศไทย ปี 2560 ที่สำรวจบริเวณสถานีรถไฟและบนขบวนรถไฟ ใน 4 เส้นทาง 72 ขบวน คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-หนองคาย และกรุงเทพฯ-หาดใหญ่-สุราษฎร์ธานี โดยการสังเกตการณ์และสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง 578 ราย พบว่า 71% ของกลุ่มตัวอย่างพบเห็นการสูบบุหรี่บริเวณชานชาลา 67.4% พบเห็นการสูบบุหรี่บนขบวนรถไฟ และ 61.5% พบเห็นการจำหน่ายบุหรี่บนขบวนรถไฟ โดยรถไฟสายกรุงเทพฯ-หาดใหญ่-สุราษฎร์ธานี ครองแชมป์ มีการพบเห็นการสูบบุหรี่บนขบวนรถไฟถึง 88 รายต่อขบวน
นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 80% ไม่ทราบว่าการสูบบุหรี่บริเวณชานชาลาและบนขบวนรถไฟผิดกฎหมาย ยิ่งกว่านั้นในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นชาวต่างชาติไม่ทราบว่าการสูบบุหรี่บริเวณชานชาลาและขบวนรถไฟผิดกฎหมายสูงถึง 98% จากการสำรวจพบว่าบนขบวนรถไฟยังไม่มีป้ายหรือเครื่องหมายแสดงเขตปลอดบุหรี่ในทุกตู้โดยสาร และพบว่ามีกลุ่มตัวอย่าง 33.3% ไม่เคยเห็นป้ายเตือนห้ามสูบบุหรี่บริเวณชานชาลาและขบวนรถไฟ
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผอ.ศจย.กล่าวว่า ขอสนับสนุนให้มีการเร่งรัดบังคับใช้กฎหมาย ห้ามขายห้ามสูบบุหรี่บนรถไฟและสถานีรถไฟ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพัฒนาระบบการทำงานเชิงรุกร่วมกันอย่างจริงจัง ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยในฐานะเจ้าของพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะส่งผลขยายพื้นที่ปลอดภัยทางสุขภาวะของประชาชน ให้คลอบคลุมถึงบนรถไฟและสถานีรถไฟซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่ต้องปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายกำหนดโทษผู้สูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ไว้ไม่เกิน 5,000 บาท แต่หากผู้ดำเนินการไม่จัดให้มีเครื่องหมายแสดงเขตปลอดบุหรี่ให้ชัดเจนและสื่อสารรณรงค์ไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในเขตห้ามสูบจะมีโทษปรับสูงสุดถึง 50,000 บาท