xs
xsm
sm
md
lg

ช่วงกินเจเน้น “ผักผลไม้” ปลอดสาร อย.จ่อเอาผิดอาหารเจมีเนื้อสัตว์ปน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมอนามัย แนะล้างผักผลไม้ลดอันตรายจากสารเคมีตกค้าง ช่วงกินเจ เน้นโปรตีนจากถั่ว เต้าหู้ เห็ดต่างๆ ลดหวาน มัน เค็ม เลี่ยงทอด ผัดน้ำมันเยิ้ม อย.ตรวจอาหารเจยังไม่พบเนื้อสัตว์ปลอมปน ชี้ หากพบมีโทษหนัก

วันนี้ (8 ต.ค.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงเทศกาลกินเจ ขอแนะนำให้พ่อค้า แม่ค้า และคนปรุงอาหารกินเอง ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดทุกครั้ง ป้องกันสารเคมีตกค้างหรือการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค มีหลายวิธี ทั้งล้างด้วยน้ำไหล แช่ในน้ำนาน 15 นาที หรือแช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5% แช่นาน 15 นาที หรือใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) ครึ่งช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด จะช่วยลดสารเคมีตกค้างได้ นอกจากนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจควรเลือกใช้ผักปลอดสารพิษที่มีการรับรองจากแหล่งผลิตในการปรุงประกอบอาหารเจ แทนการใช้ผักที่มีความเสี่ยงปนเปื้อนสารพิษจะปลอดภัยกว่า

“ส่วนอาหารแห้งประเภทธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในการบริโภค คือ เชื้อราที่ปนเปื้อนในวัตถุดิบดังกล่าวที่เกิดจากการเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสม เช่น เก็บไว้ในที่ชื้นเกินไป หรือไม่มีการอบให้แห้งดีพอ ก่อให้เกิดสารอะฟลาท็อกซิน หากมีการบริโภคเข้าไปและมีการสะสมในปริมาณมากก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้ การป้องกันที่ดี คือ ต้องเลือกถั่วเมล็ดแห้งที่ใหม่และเก็บไว้ในภาชนะที่แห้งพอ โดยก่อนที่จะนำมาปรุงประกอบอาหารควรล้างให้สะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อนและควรปรุงสุกทุกครั้งก่อนนำมาบริโภค” พญ.พรรณพิมล กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า สำหรับการเลือกซื้ออาหารเจสำเร็จรูป ควรเลือกร้านที่ผู้ปรุงจำหน่ายมีการสวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม ใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหาร หรือใส่ถุงมือ ไม่ใช้ภาชนะโฟมใส่อาหารเจ และควรเลือกซื้ออาหารเจจากร้านอาหารหรือแผงลอยมีป้ายสัญลักษณ์ อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) เนื่องจากช่วงเทศกาลกินเจพ่อค้าแม่ค้ามักมีการปรุงประกอบอาหารจำหน่ายเป็นจำนวนมาก การปรุงประกอบที่ไม่สะอาด ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพผู้บริโภคได้ ส่วนการเลือกซื้ออาหารเจให้ได้คุณค่าทางโภชนาการ ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีถั่วหรือผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง ฟองเต้าหู้ โปรตีนเกษตร งา และเห็ดต่างๆ เพื่อเสริมโปรตีน เน้นข้าวกล้อง อาหารที่ปรุงด้วยผัก เลี่ยงอาหารผัดน้ำมันเยิ้ม ทอด เพราะมีไขมันสูง หากได้รับมากเกินความจำเป็นของร่างกายจะทำให้น้ำหนักเกินและอ้วนได้ ลด หวาน มัน เค็มโดยเฉพาะน้ำมันในการปรุงอาหาร ไม่ควรเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน เน้นอาหารเจประเภทต้ม นึ่ง อบ ยำ ที่มีผักเป็นส่วนประกอบ เช่น ลาบเต้าหู้ น้ำพริกเจผักเคียง ต้มจืดเจ ต้มยำเจ พะโล้เจ เลี่ยงผลิตภัณฑ์แป้งเลียนแบบเนื้อสัตว์ ส่วนอาหารเจที่เหลือจากการกินต้องใส่ตู้เย็นและนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนกินทุกครั้ง

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัด สธ. รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เทศกาลกินเจ จะงดรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารจากเนื้อสัตว์ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์อาหารเจต้องไม่มีการปลอมปนเนื้อสัตว์ อย.จึงสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์อาหารเจ ที่แหล่งผลิต นำเข้า และจำหน่าย (ตลาดสด ห้าง ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น) ในกรุงเทพมหานคร โดยตรวจวิเคราะห์ DNA เนื้อสัตว์ ได้แก่ ไก่ หมู วัว เป็ด และปลา จำนวนปีละกว่า 30 ตัวอย่าง ในช่วงปี 2558-2561 พบว่า ผ่านมาตรฐานทั้งหมด และได้ตรวจผลิตภัณฑ์อาหารเจกรณีร้องเรียนและกรณีพิเศษ โดยตรวจวิเคราะห์ DNA เนื้อสัตว์ ได้แก่ ไก่ หมู วัว เป็ด และปลา ปี 2558 จำนวน 45 ตัวอย่าง พบ DNA จำเพาะของไก่ 9 ตัวอย่าง ปี 2559 จำนวน 30 ตัวอย่าง ผ่านมาตรฐานทั้งหมด ปี 2560 จำนวน 41 ตัวอย่าง พบ DNA จำเพาะของ หมู 1 ตัวอย่าง ไก่ 1 ตัวอย่าง และ วัว ไก่ 1 ตัวอย่าง ส่วนปี 2561 จำนวน 6 ตัวอย่าง พบ DNA จำเพาะของไก่ 2 ตัวอย่าง

นพ.ธเรศ กล่าวว่า หากพบการปลอมปน DNA ของเนื้อสัตว์ จัดเป็นอาหารปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการอาหารอย่าเอาเปรียบผู้บริโภค โดยนำผลิตภัณฑ์อาหารเจที่ไม่ได้มาตรฐานมาจำหน่าย หากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารต่างๆ เช่น สีผสมอาหาร หรือวัตถุกันเสีย ต้องเลือกใช้วัตถุเจือปนอาหารที่มีเลขสารบบอาหาร และใช้ปริมาณตามคำแนะนำบนฉลาก ส่วนการเลือกซื้อควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากแสดงชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของสถานที่ผลิต หรือชื่อและที่ตั้ง ผู้นําเข้าและประเทศผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิ ส่วนประกอบที่สําคัญเป็นร้อยละของน้ำหนัก วันเดือนและปีที่ผลิต และวันเดือนและปีที่ควรบริโภคก่อน หรือหมดอายุ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น