xs
xsm
sm
md
lg

พยากรณ์โรครายสัปดาห์ 7-13 ต.ค.เตือน “โรคหัด” แนวโน้มสูงเหตุอากาศแปรปรวน-เย็นลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พยากรณ์โรครายสัปดาห์ 7-13 ต.ค. 2561 เตือนโรคหัด หลังสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มนักโทษในเรือนจำ และ กลุ่มนักเรียน-บุคลากรในโรงเรียน ชี้มีแนวโน้มป่วยเพิ่มจากสภาพอากาศแปรปรวนและเย็นลง ขณะที่ตั้งแต่ 1 ม.ค.-29 ก.ย.พบผู้ป่วยแล้วกว่า 2 พันราย

วันนี้ (6 ต.ค.) กรมควบคุมโรค เผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์” ประจำสัปดาห์ที่ 40 ระหว่างวันที่ 7-13 ต.ค. 2561 เตือนโรคหัด ว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์ของโรคหัดในประเทศไทย พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-29 กันยายน 2561 พบผู้ป่วยแล้ว 2,149 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15-24 ปี รองลงมา คือ 25-34 ปี และ 35-44 ปี ตามลำดับ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยโรคหัดเป็นกลุ่มก้อน 2 เหตุการณ์ โดยเหตุการณ์แรกพบผู้ป่วยเป็นนักโทษในเรือนจำ 10 ราย และเหตุการณ์ที่สองพบผู้ป่วยเป็นนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน 32 ราย

การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ คาดว่า จะพบผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้เป็นปลายฝนต้นหนาว สภาพอากาศมีความแปรปรวนและเริ่มเย็นลง ทำให้เสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคหัดมากขึ้นในกลุ่มวัยผู้ใหญ่ โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัสหัด หากผู้ใดไม่มีภูมิคุ้มกันแล้วรับเชื้อจะสามารถติดต่อกันได้ง่าย พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในสถานที่ที่เป็นพื้นที่ปิด หรือผู้อาศัยร่วมบ้าน

อาการที่พบบ่อย คือ “ไข้ออกผื่น” โดยมักมีอาการไข้ประมาณ 3 วัน แล้วเริ่มมีผื่นแดงขึ้นตามตัว อาจมีอาการคันได้บ้าง โดยผื่นเริ่มขึ้นจากศีรษะ ก่อนที่จะขยายลงมาที่ใบหน้า ลำตัว และแขนขา ตามลำดับ ในรายที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไข้จะค่อยๆ ลดลง และผื่นก็จะค่อยๆ หายไป ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นมากอาจจะลอกหรือเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้นได้ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ คือ ท้องเสีย หูชั้นกลางอักเสบ ไปจนถึงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ อาการชัก ไข้สมองอักเสบและอาจเสียชีวิตได้

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า โรคหัดเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ผู้ปกครองควรพาเด็กไปรับวัคซีนป้องกันโรคตามกำหนด หากป่วยด้วยโรคหัดหรือสงสัยว่าเป็นโรคหัดควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ สอบถามข้อมูลโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422


กำลังโหลดความคิดเห็น