xs
xsm
sm
md
lg

ราคา “บุหรี่” ขึ้นแน่ ก.ย.62 หนุนเก็บเพิ่มซองละ 2 บาทโปะ “บัตรทอง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แวดวงสาธารณสุขหนุนเก็บภาษีบุหรี่ซองละ 2 บาท โปะกองทุนบัตรทอง ชี้ สอดรับราคาบุหรี่ขยับขึ้นทุกยี่ห้อช่วง ก.ย. 62 หลังปรับอัตราภาษีมูลค่าจาก 20% เป็น 40% เสนอเก็บภาษียาเส้นเพิ่มด้วยยิ่งได้ประโยชน์ “หมอประกิต” ย้ำ บุหรี่แพงขึ้น 10% ช่วยลดสูบได้ 4-10%

จากกรณีมีการยกร่าง พ.ร.บ.จัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการภาครัฐ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ... เพื่อจัดเก็บภาษีบุหรี่เพิ่มซองละ 2 บาท มาให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง

วันนี้ (2 ต.ค.) ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า เรื่องนี้ถือเป้นเรื่องที่ดี เพราะการขึ้นภาษีบุหรี่เป็นมาตรการที่ช่วยลดจำนวนนักสูบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะคนจน คนมีรายได้น้อย ซึ่งจากข้อมูลหากขึ้นภาษีบุหรี่ให้แพงขึ้น 10% จะทำให้นักสูบในวัยผู้ใหญ่ลดจำนวนมวนที่สูบลงได้ 4% เด็กลดจำนวนมวนที่สูบลง 8-10% ส่วนกรณีที่มีผู้คัดค้านไม่ให้ขึ้นภาษี โดยระบุว่าจะเป็นการซ้ำเติมผู้บริโภคและเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ และเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การจะลดจำนวนคนสูบลงก็ต้องมีผลกระทบ ถ้าไม่ปรับราคาขายจำนวนคนสูบก็ไม่ลด แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องชั่งน้ำหนัก ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น กรณีเศรษฐกิจยังมีทางเลือกอื่นๆ อีกหรือไม่ แล้วกรณีที่เป็นผลกระทบกับสุขภาพนั้นมีทางเลือกหรือไม่

“ต้องบอกว่าสุขภาพของคนเวลาเสียแล้วซ่อมได้หรือไม่ ซ่อมแล้วเหมือนเดิมหรือไม่ และถ้าบุหรี่มีราคาแพงขึ้นคนไม่สูบแง่เศรษฐานะของคนนั้นก็ดีขึ้น สุขภาพก็ไม่ต้องเสี่ยงกับโรคที่เกิดจากบุหรี่ ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกประเมินว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยจากบุหรี่ที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 1 ล้านคน เสียชีวิตปีละประมาณ 5 หมื่นคน แต่ก่อนจะเสียชีวิตต้องนอนป่วยหนักอยู่กว่า 3 ปี เป็นภาระทั้งของผู้ป่วย ระบบสุขภาพและฐานะของครอบครัวเขาเอง” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

เมื่อถามว่า การขึ้นภาษีครั้งนี้อยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า เหมาะสมแล้ว เพราะในหลายประเทศมีการเขียนไว้ในกฎหมายเลยว่า ต้องมีการเพิ่มภาษีบุหรี่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และอย่างที่ออสเตรเลียมีการขึ้นภาษีบุหรี่ 6 เดือนครั้ง ส่วนของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2536 ถึงปัจจุบันมีการขึ้นภาษีไป 12 ครั้ง เฉลี่ยขึ้นภาษี 2 ปีต่อ 1 ครั้ง แต่ในความเป็นจริงบางครั้งเว้นไป 3 หรือ 4 ปี ก็ค่อยมีการขึ้นภาษีก็มี ดังนั้นคิดว่าการขึ้นภาษีบุหรี่ครั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่สมควรที่จะทำ

แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.จัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขฯ เพื่อเก็บภาษีบุหรี่ซิกาแรตเพิ่มซองละ 2 บาท มาให้กองทุนบัตรทอง เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เพราะไม่ต่างจาก พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.) อาจจัดเก็บภาษีการค้าปลีกยาสูบมวนละ 10 สตางค์ ซึ่งคิดว่าร่างกฎหมายน่าจะเขียนคล้ายกันไม่ต่างกันมาก และการนำเอาเงินมาช่วยในเรื่องของกองทุนสุขภาพก็มองว่าเกิดประโยชน์ เพราะอย่างไรในช่วง ก.ย. 2562 บุหรี่ทุกยี่ห้อราคาขายปลีกจะต้องเกินกว่า 60 บาทแน่นอน เนื่องจากอัตราภาษีตามมูลค่าจะเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาต้องขยับราคาอยู่แล้ว

“ช่วง ก.ย. 2562 บุหรี่ทุกยี่ห้อต้องขึ้นราคาทั้งหมดอยู่แล้ว ดังนั้น การเก็บเพิ่มอีกซองละ 2 บาท จึงไม่ได้แตกต่างเลย หากสามารถเก็บแล้วเข้ากองทุนสุขภาพในวันนี้เลย ก็ยิ่งเป็นเรื่องดี เชื่อว่าทางควบคุมยาสูบคงเห็นด้วยแน่นอน แต่สิ่งที่คิดว่าควรเพิ่มคือ อาจจะต้องมีการเก็บภาษียาเส้นเพิ่มด้วยหรือไม่” แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าว

แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่า จริงๆ แล้ว การจัดทำร่าง พ.ร.บ.จัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขฯ จะสำเร็จไม่ได้ หากกระทรวงการคลังไม่อนุมัติ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินการคลัง และก่อนจะร่างกฎหมายก็มีการส่งเรื่องให้พิจารณาว่า ทำได้หรือไม่ การที่ทำในส่วนของการจัดเก็บภาษีบุหรี่ เพราะยังมีกรอบที่ทำได้ และไม่ซับซ้อนเท่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่ใช่ว่าเลือกปฏิบัติ เพราะหากตรงนี้สำเร็จก็จะสามารถทำต่อในตัวอื่นๆได้ แต่ก่อนอื่นอยากให้เข้าใจว่า การทำตรงนี้เป็นเรื่องดีในแง่ป้องกันสุขภาพของประชาชน เพราะการขึ้นภาษี เมื่อบุหรี่แพงขึ้นก็ลดนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ส่วนงบที่เข้าไปบัตรทอง ก็ไม่ใช่จะมากระจุกที่กระทรวงสาธารณสุข เพราะงบบัตรทอง ต้องยอมรับว่าแม้จะเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่เพียงพอ และเพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงบริการ และประสิทธิภาพต่างๆ งบตรงนี้จะช่วยได้และกระจายให้กับโรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ ทั้งมหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ฯลฯ ก็จะได้งบส่วนนี้ ขณะที่โรงพยาบาลก็มีการเพิ่มประสิทธิภาพของตนเองด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างพ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว มาตรา 4 ระบุชัดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพ.ร.บ.นี้ และให้มีอำนาจออกระเบียบ เพื่อปฏิบัติตามพ.ร.บ.ฯ และมาตรา 5 ให้สำนักงานมีอำนาจจัดเก็บเงินสมทบจากยาสูบในอัตรามวนละสิบสตางค์ ให้ผู้บริโภคเป็นผู้มีหน้าที่ชำระเงินสมทบ และให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตยาสูบหรือผู้นำเข้ายาสูบ เป็นผู้ดำเนินการเรียกเก็บเงินสมทบ ส่วนมาตรา 6 ให้กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบตามมาตรา 5 เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น