กทม.สั่งการบ้าน 50 เขต แก้ปัญหา “นกพิราบ” รวมฝูง ติดป้ายห้ามให้อาหาร 3 ภาษา เริ่มจับปรับเข้มข้นคนให้อาหาร พร้อมประสานปศุสัตว์จับพิราบไปศูนย์พักพิง แจ้งไกด์ทัวร์เตือนนักท่องเที่ยว เดินหน้าทำความสะอาดที่มีมูลนกพิราบ พร้อมหนุนอุปกรณ์จับนกพิราบให้เขตที่ขอ
วันนี้ (1 ต.ค.) นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังประชุมสถานการณ์ “นกพิราบ” ใน กทม. ร่วมกับผู้อำนวยการสำนักอนามัย ผู้อำนวยการเขต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ว่า จากการประชุมสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อแก้ไขปัญหาว่า จะตัดวงจรการให้อาหารนกพิราบได้อย่างไร โดยกำหนดเป็นมาตรการดำเนินงานของทั้ง 50 สำนักงานเขต ในการติดป้ายขอความร่วมมือห้ามให้อาหารนกพิราบ ป้ายเตือนและให้ความรู้การกระทำผิดกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เกี่ยวกับการให้อาหารสัตว์ที่เป็นเหตุก่อความเดือดร้อนรำคาญ พ.ร.บ. รักษาความสะอาดในพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น ที่ได้กำหนดให้มีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ ตลอดจนหลักเกณฑ์การเคลื่อนย้ายนกพิราบออกจากพื้นที่ต้องทำอย่างไร โดยได้ให้นโยบายและกำชับให้ทุกเขตติดตามและเข้มงวด
“ผลการดำเนินงานของ กทม.ที่ผ่านมาในภาพรวมถือว่าดีขึ้น เนื่องจากปริมาณการร้องเรียนของประชาชนลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม กทม.จะติดตามปัญหานกพิราบอย่างใกล้ชิดของแต่ละเขตว่าดีขึ้นมากน้อยเพียงใด โดยการประชุมครั้งต่อไป จะมีการพูดคุยในประเด็นของนกพิราบ โดยจะให้สำนักเขตที่มีปัญหารายงานผลการดำเนินงานที่ได้มอบหมายในวันนี้ต่อไป” นายทวีศักดิ์ กล่าว
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการในการป้องกันนกพิราบในพื้นที่ กทม. ได้มอบหมายให้ทุกสำนักงานเขตสำรวจพื้นที่ที่มีการรวมกันของนกพิราบเป็นจำนวนมาก จัดทำและติดป้ายประชาสัมพันธ์งดให้อาหารนกพิราบ ตามแหล่งที่มีการร่วมกลุ่มของนกพิราบ ถ้าเป็นจุดที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ทำป้าย 3 ภาษา (ไทย อังกฤษ จีน) และกรณีที่เป็นสวนสาธารณะในการดูแลของสำนักสิ่งแวดล้อม ให้สำนักสิ่งแวดล้อมดำเนินการ ประสานกับสำนักสัตวแพทย์ สาธารณสุข สำนักอนามัย เพื่อร่วมจับนกพิราบตามพื้นที่เป้าหมาย จัดเจ้าหน้าที่สำรวจ ตักเตือน จับปรับอย่างเข้มข้นกับผู้ฝ่าฝืนให้อาหาร และจำหน่ายอาหารอย่างจริงจัง ทำ Big Cleaning บริเวณที่มีมูลนกพิราบหรือบริเวณที่เคยมีการรวมกลุ่มของนกพิราบ
ส่วนสำนักอนามัยให้ประสานกับสำนักงานเขต และกรมปศุสัตว์ ร่วมกันนำนกพิราบไปพักพิงชั่วคราวที่ศูนย์ฯ ของกรมปศุสัตว์หรือศูนย์ฯ ประเวศ และปรับปรุงต่อเติม กรง สำหรับเป็นที่พักพิงชั่วคราวของนกพิราบที่จับมาได้ ณ ศูนย์พักพิง เขตประเวศ เพื่อรอการขนย้ายสู่ธรรมชาติ นอกจากนี้ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง สมาคม ชมรม มัคคุเทศก์ ไกด์ทัวร์ ให้ช่วยชี้แจงแก่นักท่องเที่ยวทราบถึงข้อห้ามในการให้อาหารนกพิราบ สนับสนุนอุปกรณ์จับนกพิราบให้แก่สำนักงานเขตทุกเขตที่ร้องขอ จัดฝึกอบรมและจัดหาอุปกรณ์สนับสนุนในการจับนกแก่บุคลากรของสำนักงานเขตๆ ละ 5 คน และจัดประชุมหารือร่วมกับกรมอุทยานฯ เพื่อหาแนวทางปฏิบัติ เพื่อนำนกพิราบปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป