เดือนมกราคม 2562 ประเทศไทยเตรียมเสนออุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List) ต่อยูเนสโก เมื่อเร็วๆ นี้ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่เข้าเยี่ยมชมและติดตามความคืบหน้าการพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
เมืองโบราณศรีเทพ แบ่งพื้นที่สำคัญออกเป็น 3 ส่วนคือ เขตเมืองใน จัดเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางมรดกศิลปวัฒนธรรม มีโบราณสถาน 48 แห่ง กลุ่มโบราณสถานที่สำคัญ เช่น เขาคลังใน บริเวณส่วนฐานของโบราณสถานมีการประดับปูนปั้นรูปคนแคระ ช้าง สิงห์และลวดลายพันธุ์พฤกษาศิลปะทวารวดีที่ยังคงสมบูรณ์
ส่วนปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้อง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบปราสาทเขมรโบราณ ที่ปรางค์องค์เล็กของปรางค์สองพี่น้องมีทับหลังรูปอุมามเหศวร์แบบศิลปะบาปวน-นครวัด ที่มีรูปแบบเฉพาะแสดงภูมิปัญญาของช่างเมืองโบราณศรีเทพ
นอกจากนี้ยังมีหลุมขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งมีโครงกระดูกมนุษย์และสิ่งของเครื่องใช้เป็นเครื่องยืนยันถึงการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนก่อนที่จะมีการพัฒนาขึ้นมาเป็นสังคมเมืองที่รับอารยธรรมทวารวดีและเขมรโบราณในราวพุทธศตวรรษที่ 13-18 และถูกทิ้งร้างเสื่อมสลายไปก่อนหรือต้นสมัยสุโขทัย
เพราะฉะนั้นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ค้นหา ได้ศึกษา อย่างไรก็ตาม เพื่ออำนวยความสะดวกในการชมอุทยานฯ มีรถรางพร้อมวิทยากร พาชมและเล่าประวัติความเป็นมาของสถานที่สำคัญๆ เมืองศรีเทพ
ใส่เอกลักษณ์ “คนแคระ” บนผืนเสื่อ
หนูผิน อรัญเพิ่ม เล่าให้ฟังว่า นำเอกลักษณ์คนแคระ ช้าง สิงห์ และอื่นๆซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของอุทยานศรีเทพมาใส่ไว้บนผืนเสือ ผืนผ้า เพราะต้องการให้ชาวเพชรบูรณ์รู้สึกภาคภูมิใจฝีมือช่างบรรพบุรุษที่ทิ้งมรดกล้ำค่าไว้ให้ลูกหลาน อีกทั้งต้องการให้นักท่องเที่ยวเห็นลวดลายบนผืนเสือ ผืนผ้า แล้วอยากมาเดินทางเยือน “ศรีเทพ” เพื่อมาชมความงดงามด้วยสายตาตนเอง
“ตนเป็นเพียงชาวบ้าน พอมีฝีมือในการทอผ้า ทอเสือ ที่ได้รับการถ่ายทอดกันมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ ส่วนตัวไม่ค่อยมีความรู้เรื่องการออกแบบ โชคดีมีคนรุ่นใหม่ช่วยออกแบบ ตนจะทอตามแบบ อย่างไรก็ตาม ในวันข้างหน้าจะแทรกลวดลายเอกลักษณ์ “ศรีเทพ” ไว้บนผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับของใช้ในชีวิตประจำวัน” จะจำหน่ายเป็นของที่รึลึก เชื่อว่าวิธีนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้คนรู้จัก “ศรีเทพ” มากยิ่งขึ้น” หนูผิน กล่าวด้วยว่า อยากได้คนมีความรู้มาช่วยออกแบบ และดีไซน์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ทันสมัย รวมทั้งหาสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ ถ้าหากผลิตภัณฑ์เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว จะได้สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน
หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย
ความเจ๋งของที่นี่คือ ห้องนิทรรศการถาวรที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้ไม่น่าเบื่อ มีสื่อโต้ตอบกับผู้ชม มีการดีไซน์ห้องจัดแสดงแต่ละห้องได้อย่างน่าสนใจ ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่คนเพชรบูรณ์และนักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด
นายวีระ ได้เยี่ยมชมหอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย โดยมี ดร.เสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ให้การต้อนรับพร้อมนำชมหอโบราณคดีฯ ที่เป็นแหล่งแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ได้ขอใช้อาคารศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ หลังเก่า มาปรับปรุงต่อเติม เพื่อจัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี รวมทั้งวัตถุโบราณของจังหวัด พร้อมเป็นแหล่งรวบรวมของดีจังหวัดเพชรบูรณ์ที่อยู่กระจัดกระจายในที่ต่างๆ นำมาจัดแสดงไว้ให้ประชาชน ชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติ ได้เรียนรู้ พร้อมศึกษาความเป็นมา เพื่อส่งเสริมความเป็นอัตลักษณ์ของคนเพชรบูรณ์ และสร้างสำนึกรักเพชรบูรณ์
ภายในอาคารประกอบด้วย โถงต้อนรับ ห้องครัวเพชรบูรณ์ การจัดแสดงเรื่องราวของเพชรบูรณ์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มาจนถึงยุคเมืองศรีเทพ สมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ จนถึงยุคร่วมสมัย การจัดแสดงความสำคัญของเมืองเพชรบูรณ์ในเรื่องจากมณฑลสู่นครบาลเพชรบูรณ์ ได้ตั้งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย นอกจากนี้ยังการจัดแสดงห้องวัฒนธรรมประเพณี เช่นประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ที่สืบสานมาอย่างยาวนาน ซึ่งในปี 2561 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-12 ตุลาคมนี้
อีกทั้งยังมีห้องสมบัติเมืองเพชรบูรณ์ โดยจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญๆ ที่มีการค้นพบในบริเวณ จ.เพชรบูรณ์ เช่น จารึกเมืองศรีเทพ จารึกดงคล้อ พระบุเงิน ชิ้นส่วนเทวรูป ซากฟอสซิลปลา ตู้พระธรรม เป็นต้น อันเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่าเมืองเพชรบูรณ์ มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีมาช้านาน เและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในจังหวัดเพชรบูรณ์ และการจัดแสดงห้องภาพประวัติศาสตร์ และเหตุการณ์เขาค้อโดยชื่อ "เพ็ชรบูรณ์อินทราชัย" นั้น เป็นพระนามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสอันดับที่ 72 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับหอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน นอกจากนี้ทุกห้องจัดแสดงจะมีเจ้าหน้าที่ นำชมพร้อมบรรยายให้ความรู้ด้วย