รพ.หัวเฉียว ชู 5 นโยบายเดินหน้า รพ.เพื่อสังคม ไม่หากำไร ดึงเงินคนจ่ายได้อุ้มคนจนกว่า เล็งเปิดศูนย์กระดูกและข้อ จักษุ และฉุกเฉินเพิ่มเติม หวังดูแลครอบคลุมมากขึ้น เล็งทำตึกใหม่รองรับคนไข้ประกันสังคมในปี 63 คาด รับผู้ประกันตนได้อีก 5 หมื่นคน ช่วยขยายเป็น 400 เตียง จ่อเพิ่มอายุรแพทย์ หมอออร์โธฯ รองรับดูแลสังคมสูงวัย
วันนี้ (25 ก.ย.) ที่โรงพยาบาลหัวเฉียว นายสุธี เกตุศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวว่า ปี 2561 รพ.หัวเฉียว ครบรอบ 80 ปี ซึ่งต้นกำเนิดของโรงพยาบาลมาจากมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง เราจึงเดินหน้าในเรื่องของโรงพยาบาลเพื่อสังคมมาโดยตลอด ซึ่งแตกต่างจากการทำ CSR ของบริษัทเอกชนทั่วไป ซึ่งการทำ CSR จะเน้นทำกำไรแล้วเอากำไรมาตอบแทนสังคม แต่เราเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร แต่เงินทั้งหมดที่ได้รับมาเราคืนให้แก่ผู้ป่วยและสังคม สำหรับการดำเนินการโรงพยาบาลเพื่อสังคม เราเน้นใน 5 เรื่อง คือ 1. คุณภาพการรักษาพยาบาลที่ต้องดี ซึ่งขณะนี้เราพัฒนาจนเป็น รพ.ตติยภูมิ ขนาด 338 เตียง ที่สามารถดูแลรักษาโรคได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น มีแพทย์รวม 275 คน ครอบคลุมหลายสาขา ทั้งอายุรแพทย์ สูตินรีแพทย์ กุมารแพทย์ จักษุแพทย์ ศัลยแพทย์ ออโธปิดิกส์ วิสัญญีแพทย์ ฉุกเฉิน ฯลฯ
นายสุธี กล่าวว่า 2. ความโปร่งใส โดยเราไม่ทำกำไรเหมือน รพ.เอกชนทั่วๆ ไป ในการให้การรักษาแบบโอเวอร์ แต่ให้บริการตามจริง รักษาตามที่จำเป็น ในราคาที่เหมาะสม 3. ความเอื้ออาทร บุคลากรทั้งหมดที่เรารับมาจะต้องมีความร้สึกเอื้ออาทร เมตตากรุณาต่อผู้ป่วย เปรียบเสมือนญาติ 4. ธรรมาภิบาล คือ การไม่แสวงหากำไร ไม่ซื้อเอาตามพรรคพวก หรือการมีเงินทอนต่างๆ ถือเป็นธรรมนูญในการบริหาร และ 5. ราคาไม่แพงจนเกินไป ซึ่งผู้ป่วยระดับบนจะต้องรู้สึกว่า คุณภาพดีและถูก คนชั้นกลางรู้สึกคุณภาพดีและไม่แพง ส่วนคนยากจนลงมาต้องรู้สึกว่าคุณภาพดีและพอจ่ายได้ นอกจากนี้ เรายังมีโครงการประโยชน์เพื่อสังคมอีกมาก เช่น การอบรมการปฐมพยาบาลช่วยชีวิตให้แก่มูลนิธิฯ ต่างๆ การอบรม Care Giver ที่จะไปดูแลผู้สูงอายุ การให้ทุนการศึกษาแก่เด็กยากจน การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปยังถิ่นทุรกันดาร เพื่อตรวจรักษา มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ รวมไปถึงการสนับสนุนด้านกีฬา เป็นต้น
เมื่อถามถึงการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ รพ.ไม่ขาดทุน และสามารถมีเงินไปทำเพื่อสังคมได้ นายสุธี กล่าวว่า ส่วนหนึ่งอาจจะมาจาก รพ.ไม่ได้รับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ทำให้ไม่ค่อยมีภาระในเรื่องดังกล่าว เพราะมองว่าสิทธิบัตรทองเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องดูแล ส่วนผู้ป่วยที่มา รพ.จะเป็นผู้ป่วยในระบบประกันสังคม 60% และผู้ป่วยที่จ่ายเงินเอง 40% ซึ่งจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ที่มีกำลังในการจ่ายก็เลือกมารับบริการที่นี่ เพราะอย่างที่บอกว่าราคาของที่นี่ไม่ได้แพงจนเกินไป คนที่จ่ายก็สามารถจ่ายได้ และต้องการรับบริการที่รวดเร็วกว่า รพ.รัฐ รวมถึงอาจเพราะมีประกันชีวิตด้วย เช่น เรามีห้องรวม 6 เตียง แบบมีแอร์และไม่มีแอร์ ห้องรวม 4 เตียง ห้องเดี่ยว ซึ่งก็จะมีความครอบคลุมในการดูแลผู้ป่วยที่ฐานะต่างๆ กันไป อย่างหากเป็นห้องรวม 6 คนไม่มีแอร์ มูลนิธิฯ ยังสนับสนุนทุกค่ารักษาให้อีก 20% ห้องรวม 4 เตียง ไม่มีแอร์ สนับสนุน 15% เป็นต้น ซึ่งการบริหารจัดการนั้นก็จะนำเงินส่วนต่างค่ารักษาของคนที่สามารถจ่ายได้ มาช่วยดูแลคนที่มีกำลังจ่ายน้อย ขณะที่คนยากจนจริงที่มีกำลังจ่าย ซึ่งสังคมสงเคราะห์ของ รพ.ตรวจสอบแล้วว่ายากจนจริง ก็จะรับการรักษาฟรี ซึ่งมีมูลนิธิฯ สนับสนุน นอกจากนี้ รพ.ยังไม่ได้มีผู้ป่วยที่มากจนเกินไป คือ มีผู้ป่วยนอกประมาณ 6 แสนคนต่อปี และผู้ป่วยในอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 6 หมื่นวัน ซึ่งอยู่ในระดับที่ รพ.สามารถรับได้ โดยการบริหารเช่นนี้ทำให้ รพ.มีรายได้ และสามารถนำมาตอบแทนสังคมในส่วนต่างๆ ได้ โดยปีนี้ รพ.มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 6% แต่มีรายรับเพิ่มขึ้น 10%
“รายได้ของ รพ.มาจากประกันสังคม 35% กับผู้ป่วยที่จ่ายเอง 65% ทำให้ขณะนี้ รพ.ไม่ต้องรับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิฯ ในการบริหารจัดการ เพราะมีศักยภาพในการดูแลตนเองได้ ยกเว้นในเรื่องของการลงทุนในการสร้างตึก ก็จะเป็นงบลงทุนจากมูลนิธิฯ แต่ รพ.จะต้องผ่อนจ่ายคืน อย่างขณะนี้มีแพลนที่จะทำตึกใหม่ เพื่อรองรับผู้ป่วยประกันสังคมออกมา ซึ่งคาดว่าต้องใช้งบลงทุนประมาณ 200-300 ล้านบาท ใช้เวลาประมาณ 2 ปี คือ ไม่เกินปลายปี 2563 จะแล้วเสร็จ จะสามารถช่วยรองรับผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้น โดยสามารถรับลงทะเบียนผู้ป่วยประกันสังคมเข้ามาดูแลได้อีก 5 หมื่นคน จากที่ปกติมีผู้ป่วยประกันสังคมลงทะเบียนประมาณ 1.34 แสนคน และจะช่วยให้มีจำนวนเตียงเพิ่มขึ้นเป็น 400 เตียงในอนาคต” นายสุธี กล่าว
เมื่อถามถึงการดำเนินงานในอนาคต นายสุธี กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.เรามีคลินิกต่างๆ เรียกว่า ครบวงจร ก็จะยกระดับคลินิกต่างๆ เหล่านี้ให้ขึ้นมาเป้นศูนย์เฉพาะทาง ที่ดูแลได้ครอบคลุมหรือลึกมากขึ้น เช่น ปี 2560 เราเปิดศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โดยปี 2561-2562 จะเปิดศูนย์โรคกระดูกและข้อ ซึ่งจะดูแลได้ครอบคลุมเกี่ยวกับกระดูกและข้อท้งหมด ยกเว้นโรคมะเร็งกระดูกและข้อต่างๆ เท่านั้น รวมถึงเปิดศูนย์จักษุ ส่วนปี 2563-2564 จะเปิดศูนย์ฉุกเฉินที่ดูแลู้ป่วยฉุกเฉิน วิกฤต และอุบัติเหตุต่างๆ ซึ่งก็สอดรับกับนโยบายยูเซป หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต รักษาทุกที่ดีทุกสิทธิ ซึ่ง รพ.หัวเฉียว ก็มีส่วนในการช่วยขับเคลื่อน เพราะเรามีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินและมีบริการในเรื่องนี้ โดยพร้อมที่จะรับการประสานจากศูนย์ 1669 เพื่อส่งทีมออกไปช่วยผู้ป่วยในที่เกิดเหตุ และส่ง รพ.ที่ใกล้ที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะรองรับสังคมผู้สูงวัยต่อไปอย่างไร เพราะต้องมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และโรคเรื้อรังมากขึ้น นายสุธี กล่าวว่า ทุกวันนี้ผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลส่วนใหญ่ก็มาด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ ก็คือ ในส่วนของอายุรแพทย์ เช่น เบาหวาน ไขมัน ความดัน หัวใจ เราถึงมีการเปิดศูนย์หัวใจขึ้น และมีการอายุรแพทย์มากที่สุดในโรงพยาบาล ซึ่งในอนาคตก็ต้องขยายแพทย์ในส่วนของอายุรแพทย์และออร์โธปิดิกส์ให้มากขึ้นเพื่อดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนี้ เรายังมีการเปิดบ้านสุขใจ ในการดูแลผู้สูงอายุที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งมีทั้งที่มาแบบไปแล้วกลับหรือเดย์แคร์ รวมถึงเป็นรายสัปดาห์และรายเดือน การอบรม Care Giver ให้ไปดูแลผู้สูงอายุในบ้าน ในชุมชน รวมถึงมูลนิธิฯ สนับสนุนค่ารักษาผู้ป่วยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป อีก 5% ในทุกค่าใช้จ่ายการรักษา ทั้งค่าห้อง ค่ายา เป็นต้น
เมื่อถามถึงการปรับภาพลักษณ์ใหม่ของ รพ.หัวเฉียว เพราะคนยังมองเป็น รพ.เก่า เป็น รพ.ดูแลคนจีน นายสุธี กล่าวว่า รพ.ก็มีการปรับตัวเองให้ดูทันสมัยขึ้น อย่างตึกที่สร้างใหม่ก็ดูโมเดิร์นขึ้น นอกจากนี้ ก็ต้องรุกสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ด้วยว่า เราเป็น รพ.เพื่อสังคม พร้อมที่จะดูแลผู้ป่วยที่พอสามารถจ่ายเงินเองได้ ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป และพยายามสื่อสารการออกไปทำประโยชน์เพื่อสังคมให้มากขึ้น เพื่อให้เป็นที่รู้จักในสังคม