กรมสุขภาพจิต เผย ฟุ้งซ่าน กลัว กังวลเกินเหตุนานกว่า 6 เดือน เข้าข่าย “โรควิตกกังวล” พร้อมมีอาการทางกายอย่างน้อย 3 อย่าง แนะพบแพทย์รักษา อย่าซื้อยากินเอง คาดทั่วประเทศมีคนป่วยกว่า 1.4 แสนคน หากไม่รักษา อาการจะรุนแรงขึ้น นำโรคอื่นๆ ตามมา
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชของประชาชนไทย นอกจากโรคทางจิตแล้วยังมีในกลุ่มของโรควิตกกังวล ซึ่งผู้ป่วยจะมีจิตใจแปรปรวนอ่อนไหวง่าย ที่พบได้บ่อย คือ โรควิตกกังวลทั่วไป ซึ่งในคนปกติทั่วไปอาจเกิดความวิตกกังวลได้ เช่น กังวลเรื่องลูกไปโรงเรียน เรื่องการเข้าทำงานใหม่ แต่ว่าจะเป็นไม่นาน อาการจะหายไปเอง แต่ในผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไปจะมีอาการติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน อาการเด่นที่สำคัญ คือ คิดฟุ้งซ่าน กลัวและกังวลเกินกว่าเหตุในหลายๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น มีอาการใจลอย ตกใจง่าย ไม่สามารถหักห้ามใจไม่ให้คิดได้ และจะมีอาการทางกายปรากฏร่วมด้วยอย่างน้อย 3 อย่าง เช่น กระสับกระส่าย เหนื่อยง่าย ใจสั่น ปวดตึงกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่ต้นคอ ไหล่ หลัง ใจเต้นเร็วและแรง หายใจไม่อิ่ม ท้องเสีย ปัสสาวะบ่อย มือเท้าเย็น นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ เป็นต้น
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตล่าสุดในปี 2556 พบประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นโรคนี้ร้อยละ 0.3 คาดว่า ทั่วประเทศมีประมาณ 140,000 คน สาเหตุของโรควิตกกังวลทั่วไปเกิดมาจากความผิดปกติทางจิตใจ หรือความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง เป็นโรคที่ประชาชนไทยมักเข้าใจผิดกันบ่อย คิดว่า ผู้ป่วยแกล้งทำ หรือคิดว่าเกิดมาจากตัวเองคิดมากไปเอง ไม่ได้เจ็บป่วย จึงไม่ไปพบแพทย์ หรือจิตแพทย์ เพื่อรักษาแก้ไขที่ต้นเหตุ ซึ่งโรคนี้มียารักษา และต้องใช้วิธีการบำบัดทางจิตสังคมร่วมด้วยเพื่อปรับความคิดและพฤติกรรมควบคู่กัน ที่น่าเป็นห่วงก็คือ การซื้อยาหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมากินเองเพื่อแก้ไขอาการที่ตัวเองเป็น เช่น นอนไม่หลับ ความกังวล ปวดศีรษะ เป็นต้น ซึ่งจะมีผลเสียมากกว่า นอกจากจะไม่ได้ผลหรือได้ผลเพียงชั่วขณะ ยังอาจทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้นไปอีก เพราะไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุ จึงขอให้ผู้ที่มีปัญหาและอาการที่กล่าวมา เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรืออาจโทรขอรับคำปรึกษาทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า โรควิตกกังวลทั่วไป หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคทางใจและทางกายตามมาอีกหลายโรค ได้แก่ โรคซึมเศร้า นอนหลับยากหรือนอนไม่หลับ มีแนวโน้มใช้สารเสพติด เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ได้สูง รวมทั้งยังเสี่ยงเกิดโรคทางกาย เช่น ปวดหัวเรื้อรัง ลำไส้แปรปรวน มีรายงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าโรควิตกกังวล เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตสูง ร่างกายอ่อนแอติดเชื้อโรคได้ง่าย เนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายต่ำ
สำหรับผู้ที่กำลังมีอาการวิตกกังวลในขณะนี้ มีวิธีช่วยควบคุมหรือบรรเทาอาการให้ทุเลาลงได้ดังนี้ 1. พักผ่อนให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยง หรืองดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมทั้งเครื่องดื่มชูกำลัง เนื่องจากกาเฟอีนอาจกระตุ้นให้อาการแย่ลงได้ 2. รับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างครบถ้วนต่อเนื่อง หากมีความจำเป็นต้องซื้อยารักษาโรคหรือสมุนไพรต่างๆ ตามร้านขายยาทั่วไปควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน 3. ฝึกทำสมาธิ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย และรู้จักการปล่อยวาง ซึ่งจะช่วยให้จิตใจสงบขึ้น
“ประการสำคัญ ญาติหรือคนรอบข้าง ควรทำความเข้าใจว่าอาการของผู้ป่วยไม่ได้เกิดจากการแกล้งทำหรือคิดมากไปเอง ซึ่งสาเหตุที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในร่างกาย และเกี่ยวกับพื้นฐานสุขภาพจิตของแต่ละบุคลด้วย จึงควรเข้าอกเข้าใจและให้กำลังใจผู้ที่เป็นโรคดังกล่าว ซึ่งสามารถรักษาได้และกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีดังเดิมได้” นพ.กิตต์กวี กล่าว