สธ.เปิดคัดกรอง "อาการดาวน์" หญิงตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไป ทุกสิทธิการรักษาฟรี ด้วยวิธีการเจาะเลือด ลดเสี่ยงจากการเจาะน้ำคร่ำ หวังคัดกรองได้มากขึ้น จัดส่งตรวจศูนย์วิทย์นครสวรรค์ รองรับได้ถึง 1 แสนคน สปสช.เล็งขยายสิทธิครอบคลุมทุกกลุ่มอายุในปี 63 เผยหญิงอายุมากกว่า 35 ปี ทารกเสี่ยงดาวน์ 2-3 เท่า
วันนี้ (21 ก.ย.) นพ.ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวเปิดบริการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไป ครอบคลุมทั่วประเทศ ว่า หญิงตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไป ทารกมีโอกาสเสี่ยงเกิดอาการดาวน์ซินโดรมสูง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 ทำให้เด็กมีระดับสติปัญญาต่ำ พัฒนาการช้า หัวใจและต่อมไทรอยด์ผิดปกติแต่กำเนิด ทั้งนี้ ประเทศไทยมีหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 700,000 ราย คาดว่า มีทารกเกิดใหม่เป็นกลุ่มอาการดาวน์ปีละ 1,000 ราย โดยเด็กดาวน์ซินโดรม 1 คน มีค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากการเลี้ยงดูไปตลอดชีวิต 2.5 ล้านบาท การตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์ จึงช่วยลดทอนปัญหา เพราะเมื่อพบความเสี่ยงก็จะให้บริการคำปรึกษาในการวางแผนครอบครัวต่อไป
นพ.ธวัช กล่าวว่า การตรวจคัดกรองจะใช้วิธีการเจาะเลือดเพื่อประเมินความเสี่ยง ซึ่งจากการนำร่องดำเนินการใน 3 พื้นที่ โดย 3 มหาวิทยาลัย คือ ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น และม.สงขลานครินทร์ เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2561 พบว่า มีความคุ้มค่า น่าจะขยายทั้งประเทศ จึงเกิดการบูรณาการทำงานเรื่องนี้ร่วมกัน โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรอง ให้แก่หญิงตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นทั้งประเทศทุกสิทธิการรักษา ซึ่งหากอาจมีการพัฒนาให้ครอบคลุมทุกช่วงอายุของการตั้งครรภ์ต่อไป
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัด สธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ก็มีการให้บริการตรวจคัดกรองภาวะดาวน์มาตลอด แต่คนมักกังวลเรื่องความปลอดภัยหรืออาการแทรกซ้อนของการเจาะน้ำคร่ำตรวจ จึงเลือกใช้วิธีการตรวจคัดกรองความเสี่ยงด้วยการเจาะเลือด ซึ่งได้รับการยอมรับจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ในการใช้ตรวจคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ช่วงอายุครรภ์ 14-18 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงอายุครรภ์ที่ตรวจด้วยวิธีการนี้แล้วแม่นยำที่สุด เพื่อให้เกิดการคัดกรองได้มากขึ้น เพราะมีความปลอดภัยกว่า ไม่ต้องเจาะน้ำคร่ำตรวจทุกราย หากพบว่ามีความเสี่ยงจึงค่อยเจาะน้ำคร่ำตรวจยืนยันให้แน่ชัดภายหลัง ทั้งนี้ วิธีเจาะเลือดตรวจเดิมมีราคาสูงมาก 4-8 พันบาท ในเอกชน 8 พัน - 1หมื่นบาท เพราะมีการตรวจกันน้อย แต่เมื่อ สปสช.เข้ามาดูแลค่าใช้จ่ายดังกล่าว ทำให้ราคาลดลงมาเหลือเพียงพันกว่าบาท
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การให้บริการตรวจคัดกรอง กรมฯ ได้มอบให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ เป็นศูนย์หลักในการรับเลือดมาตรวจคัดกรองอาการดาวน์ของประเทศ โดยติดตั้งเครื่องมือในการตรวจราคากว่า 8 ล้านบาท ซึ่งตอนแรกตั้งใจว่าจะเปิดประมาณ 3-4 แห่ง แต่พบว่า การตั้งศูนย์เพียงที่เดียวแล้วใช้การขนส่งมาจะช่วยประหยัดงบประมาณมากกว่า เพราะศูนย์ที่นครสวรรค์ก็มีศักยภาพในการตรวจได้ถึง 100,000 ราย ซึ่งเพียงพอกับจำนวนของหญิงตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งพบได้ประมาณ 10% จากหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด 7 แสนราย โดยการตรวจคัดกรองและส่งผลกลับใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน อย่างไรก็ตาม หากอนาคตมีการขยายกลุ่มตรวจคัดกรองเพิ่มขึ้น เช่น ตรวจหญิงตั้งครรภ์ทั้งประเทศ ก็อาจมีการขยายศูนย์ตรวจเพิ่มขึ้น
นพ.จักรกฤช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การตรวจคัดกรองดังกล่าว สปสช.จะดูแลค่าใช้จ่ายทั้งส่วนของการตรวจคัดกรองด้วยวิธีการเจาะเลือด และการตรวจยืนยันด้วยวิธีการตรวจน้ำคร่ำ ในหญิงตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไป สำหรับการขยายตรวจผู้หญิงไทยทุกคนทุกกลุ่มอายุนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพัฒนาสิทธิประโยชน์ ซึ่งคาดว่าจะครอบคลุมหญิงตั้งครรภ์ทั้ง 7 แสนคนได้ภายในปี 2563
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การตรวจคัดกรองดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ หากพบว่าทารกเกิดอาการดาวน์ก็จะมีกลไกในการให้คำปรึกษา เพื่อให้ครอบครัวตัดสินใจว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร ซึ่งตรงนี้อยู่ที่ความพร้อมของครอบครัวด้วย เช่น หากไม่พร้อมก็มีบริการยุติการตั้งครรภ์ หรือหากมีความพร้อมก็จะได้วางแผนในการเตรียมจิตใจ ครอบครัว สังคม หรือสิ่งที่ต้องเผชิญในการดูแลเด็กดาวน์ซินโดรม เพื่อให้การคลอดเป็นภาระน้อยที่สุด ทั้งนี้ จำนวนหญิงตั้งครรภ์ 7 แสนราย มีหญิงตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไปประมาณ 1 แสนราย มีความเสี่ยงทารกเกิดอาการดาวน์มากกว่าวัยอื่น 2-4 เท่า โดยเด็กที่เกิดจากแม่อายุเกิน 35 ปี เป็นดาวรน์ซินโดรมประมาณ 1 ต่อ 800 คน ส่วนแม่อายุต่ำกว่า 35 ปี อยู่ที่ 1 ต่อ 1,000 คน