xs
xsm
sm
md
lg

เตือนครูคัดกรอง "เด็กเล็ก" ก่อนเข้าเรียน ห่วงหน้าฝนเสี่ยงป่วย "มือเท้าปาก หวัดใหญ่" สูง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สธ. เตือนครู พี่เลี้ยง คัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียน เหตุหน้าฝนเด็กเล็กเสี่ยงป่วยมากขึ้น เผยตั้งแต่ต้นปีป่วยมือเท้าปากแล้ว 46,347 คน ไข้หวัดใหญ่ 31,485 ราย ปอดบวม 75,374 ราย

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงฝนตกชุก มักพบเด็กเล็กป่วยด้วยโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้น ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคมือเท้าปาก ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม โรคท้องร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ประสานศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาลในพื้นที่ ร่วมเฝ้าระวัง และดำเนินการป้องกันควบคุมโรคตามมาตรการของกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้มีเด็กป่วยและเสียชีวิต ขอให้ครู พี่เลี้ยงเด็ก คัดกรองอาการผิดปกติของเด็กก่อนเข้าเรียน โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก เด็กจะมีไข้ มีตุ่มแดงภายในช่องปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ขอให้เด็กหยุดเรียนจนกว่าจะหายป่วย และทำความสะอาดห้องเรียน ของเล่น ที่นอน รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ เครื่องเล่นภายในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

“ขอให้ประชาชนดูแลรักษาความสะอาดร่างกายบุตรหลาน ตัดเล็บให้สั้น ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร ใช้ช้อนกลาง และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน หากมีอาการที่กล่าวมาข้างต้น ให้พาไปพบแพทย์ทันที และแจ้งให้ทางโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กทราบ หยุดอยู่บ้านจนอาการและแผลทุกแห่งหายเป็นปกติ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยบางราย ซึ่งเป็นส่วนน้อยอาจมีอาการรุนแรง มีการติดเชื้อเข้าสู่สมองและเสียชีวิตได้ จึงขอให้สังเกตอาการของเด็ก หาก 2-3 วันแล้วอาการแย่ลงคือไข้สูงขึ้น มีอาการเหม่อ ตาลอย ผวา ชัก หรือซึมลง ให้ไปพบแพทย์ทันที” นพ.เจษฎา กล่าว

นพ.เจษฎา กล่าวว่า สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา มี 3 ชนิดคือ ชนิด เอ บี และซี ที่พบมากที่สุด คือ ไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ (H1N1) (H3N2) รองลงมาได้แก่ ชนิด บี และซี มักมีอาการทันทีทันใด มีไข้สูง ตัวร้อน ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขน ต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ โดยในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ส่วนใหญ่มักไม่รุนแรง อาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 5 – 7 วัน โดยไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ให้เด็กนอนพักผ่อนอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายป่วย ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น หรือบางรายที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง มีอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ให้รีบพาไปพบแพทย์

ส่วนโรคท้องร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า เด็กมีอาการท้องร่วง มีไข้ อาเจียนมาก ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ โดยเฉพาะในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีจะมีอาการรุนแรงมาก ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล บางรายอาจมีอาการขาดน้ำรุนแรง และเกิดภาวะช็อคได้ โรคนี้ติดต่อกันโดยการกินอาหาร นม หรืออมมือ อมของเล่นที่มีเชื้อนี้ ดังนั้นจึงควรดูแลล้างมือเด็ก ล้างของเล่นบ่อย ๆ เพื่อลดการติดเชื้อ โดยขณะนี้ มีวัคซีนป้องกันโรคนี้แล้ว แต่เด็กก็ยังมีโอกาสเกิดโรคท้องร่วงจากสาเหตุอื่น ๆ หรือจากเชื้อไวรัสโรต้าเอง ซึ่งอาการมักไม่รุนแรงนัก

ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยา รายงานตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ถึงขณะนี้ พบเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ป่วยเป็นโรคมือเท้าปากแล้ว 46,347 คน ไข้หวัดใหญ่ 31,485 ราย ปอดบวม 75,374 ราย


กำลังโหลดความคิดเห็น