xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ผ่า “ฟันคุด” เสี่ยงกระทบฟันซี่อื่น ปวดบวม เหงือกอักเสบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หมอฟันย้ำ “ฟันคุด” ควรผ่าออก ปล่อยทิ้งไว้เสี่ยงกระทบฟันซี่อื่น ส่งผลการจัดฟัน เกิดอาการปวดบวม เหงือกอักเสบได้ พร้อมเผยกลุ่มเสี่ยงห้ามผ่าฟันคุด

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ฟันคุดคือ ฟันแท้ที่ไม่สามารถขึ้นมาได้ตามปกติ และมักฝังตัวอยู่ที่ขากรรไกรใต้เหงือกบริเวณกรามซี่ที่สาม ซึ่งเป็นฟันซี่ที่อยู่ด้านในสุด อาจจะมองเห็นหรือไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหากตัวฟันไม่ได้โผล่พ้นขึ้นมาเหนือเหงือก ต้องใช้การเอกซเรย์จึงจะสามารถเห็นได้ ฟันคุดที่เกิดขึ้นสามารถส่งผลกระทบต่อฟันซี่อื่นโดยรอบ ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดภายในช่องปาก เกิดการอักเสบติดเชื้อ หรือปัญหาการบดเคี้ยว ทั้งนี้ จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อนำฟันคุดที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติออก

ทพ.บุญชู สุรีย์พงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวว่า ฟันคุดพบได้บ่อยในช่วงอายุประมาณ 17-25 ปี หากฟันกรามซี่ที่สามขึ้นยังไม่เต็มที่ไม่ทำให้อาการรุนแรงจนเกินไป ทันตแพทย์จะรักษาด้วยการตกแต่งเนื้อเยื่อโดยรอบ หรือแนะนำในเรื่องการรักษาความสะอาดช่องปากแก่ผู้ป่วย แต่หากฟันคุดทำให้เกิดปัญหาหรือเอกซเรย์แล้วพบว่าฟันคุดส่งผลกระทบต่อฟันซี่อื่นๆ จึงจำเป็นต้องผ่าตัดออก โดยฟันคุดอาจทำให้เกิดอาการปวดหรืออาการบวม เหงือกอักเสบ ฟันผุ และส่งผลต่อการจัดฟัน

ทั้งนี้ การผ่าฟันคุดถือเป็นข้อห้ามสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการดังต่อไปนี้ เกิดภาวะกระดูกตายจากการฉายแสงรักษาโรคมะเร็งที่ขากรรไกร โรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมได้ โรคไตวายระยะสุดท้าย โรคตับ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะสุดท้าย มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมไม่ได้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบริเวณหลอดเลือดสมอง เนื่องจากอาการป่วยเหล่านี้จะทำให้การผ่าตัดเป็นไปได้ยากหรือส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ นอกจากนี้สตรีมีครรภ์ที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1 หรือ 3 ควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัดฟันคุดไปจนกว่าจะคลอดบุตร และภายหลังการผ่าตัดสามารถกลับบ้านได้ แต่หากในระยะพักฟื้นหลังการผ่าตัดผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ กลืนไม่ได้ หายใจลำบาก มีเลือดออกมากผิดปกติ มีหนองหรือเกิดอาการชา ควรรีบไปพบทันตแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการแทรกซ้อนที่พบหลังจากการผ่าฟันคุด


กำลังโหลดความคิดเห็น