xs
xsm
sm
md
lg

“ครูก้า” ล่า 1.5 หมื่นชื่อ จี้ออก กม.ห้าม ร.ร.จัดสอบเข้า ป.1 ทำเด็กเครียด ขวางทักษะสมอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ครูก้า” กรองทอง สร้างแคมเปญยกเลิกสอบเข้า ป.1 รวบรวม 1.5 หมื่นรายชื่อ ยื่น กอปศ. นายกฯ ครม. ศธ. จี้ออก พ.ร.บ.ห้าม ร.ร.รัฐและเอกชนจัดสอบเข้า ป.1 ชี้ สร้างค่านิยมพ่อแม่พาลูกไปติว เกิดความเครียด ขัดขวางทักษะสมอง EF

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางกรองทอง บุญประคอง หรือ ครูก้า ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก และผู้บริหารโรงเรียนจิตตเมตต์ ได้สร้างแคมเปญรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ Chang.org เรื่อง ยกเลิกสอบเข้า ป.1 โดยต้องการรวบรวมรายชื่อนจำนวน 15,000 รายชื่อ ยื่นร้องเรียนต่อกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) สำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ออก พ.ร.บ. ห้ามทุกโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชนรับเด็กเข้าเรียน ป.1 ด้วยการสอบ เพื่อคุ้มครองไม่ให้ศักยภาพสมองของเด็กถูกทำลายจากความเครียดเพราะต้องเร่งเรียนเพื่อสอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แคมเปญดังกล่าวให้ข้อมูลไว้ว่า ช่วงปฐมวัย 0-8 ปี คือ ช่วงที่สำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์ ซึ่งนักการศึกษา นักจิตวิทยาพัฒนาการ และนักประสาทวิทยา เห็นตรงกันว่า เป็นช่วงที่ทักษะสมอง EF (EXECUTIVE FUNCTIONS) สามารถพัฒนาได้รวดเร็วที่สุดและมากที่สุด ซึ่งจะทำให้มนุษย์ “คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น และมีความสุขเป็น” แต่ถ้าพ้นจากวัยนี้ไปจะเป็นช่วงของการพัฒนาต่อยอดจากฐานที่มีอยู่ ถ้าฐานอ่อนแอมีเครือข่ายเส้นใยสมองอยู่น้อยก็ต่อยอดได้น้อย มีความเสี่ยงสูงที่เด็กจะไม่เติบโตอย่างที่หวัง ถ้าฐานแข็งแรงก็ต่อยอดได้มาก เป็นพลเมืองคุณภาพได้ไม่ยาก

ปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมทักษะสมอง EF คือ ความรัก สัมพันธภาพและสายใยแห่งความผูกพันที่ดีจากพ่อแม่ เรียนรู้ผ่านการเล่นที่เหมาะสมกับพัฒนาการ ใช้การบูรณาการประสาทสัมผัสอย่างเต็มที่ ส่วน “ความเครียด” คือ ตัวการสำคัญที่จะขัดขวางทักษะสมอง EF ซึ่งปัจจุบันองค์ความรู้เรื่องทักษะสมอง EF ยังไม่แพร่หลาย ขณะที่การคัดเด็กเข้าเรียนด้วยการสอบที่พ่อแม่เชื่อว่ามีคุณภาพ และรับเด็กได้น้อย สร้างความกดดันพ่อแม่จึงทำให้เกิดค่านิยมใหม่ คือ พาลูกไปติวอย่างเคร่งเครียดให้มากที่สุดเพื่อชิงโอกาสในการเข้าเรียน หรือแม้ไม่ได้พาลูกเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีการสอบ ต่างก็พาลูกไปเรียนพิเศษอย่างเคร่งเครียด ด้วยเข้าใจผิดคิดว่า คือ วิธีการให้การศึกษาแก่ลูกที่คนอื่นๆ ทำกัน โดยไม่รู้ว่ากำลังเบียดบังโอกาสที่เด็กควรจะได้รับการพัฒนาทักษะสมอง EF และยังขัดขวางทักษะสมอง EF ด้วยความเครียด รวมถึงมอบของแถมติดตัวเด็กไปจนโต คือ การสูญเสียทั้งความเชื่อมั่นและมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียนรู้ ให้กับเด็กที่สอบไม่ได้ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า

สิ่งที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ในทันที โดยใช้งบประมาณที่น้อยมาก คือ การออก พ.ร.บ.มาคุ้มครองเด็กให้เร็วที่สุด โดยห้ามโรงเรียนใดๆ ทั้งของรัฐและเอกชนรับเด็กเข้าเรียนด้วยการสอบคัดเลือก การเปลี่ยนแปลงที่จะตามมาถ้ามี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กๆ ในเรื่องนี้ คือ พ่อแม่ได้กลับไปทำบทบาทหน้าที่ มีเวลาสร้างสัมพันธภาพ เกิดสายใยแห่งความผูกพันให้ความรักความอบอุ่น ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงภายในให้กับเด็กๆ ครูไม่ต้องอึดอัดใจที่ต้องสอนในสิ่งที่ไม่ควรสอน ได้ภาคภูมิใจที่จะได้ทำหน้าที่เป็นครูที่ดีตามที่เคยร่ำเรียนมา โรงเรียนได้กลับไปทำหน้าที่ตามเป้าหมาย ปรัชญา และวิสัยทัศน์ของโรงเรียนที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้ที่มีคุณค่าต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกพ่อแม่ต่อว่าหรือเอาลูกออกถ้าไม่เร่งเตรียมเด็กเพื่อสอบ และปฏิรูปการศึกษาสามารถเดินหน้าต่อได้ ประเทศชาติก็ได้พลเมืองที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น

ทางออกในกระบวนการที่จะนำมาใช้ทดแทนการสอบเข้า ป.1 โดยให้แต่ละโรงเรียนสามารถเลือกวิธีจัดสรรโอกาสให้เด็กเข้าเรียนตามความเหมาะสมในบริบทของแต่ละโรงเรียน แต่ต้องไม่ใช้การสอบคัดเลือกเด็กหรือจะต้องไม่เรียกร้องทรัพย์สินเงินทองเพื่อความได้เปรียบในการพิจารณาจากผู้ปกครอง เช่น การสอบพ่อแม่ ซึ่งอาจใช้การสอบข้อเขียน หรือ การสอบสัมภาษณ์ หรือ สอบทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์ก็ได้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาความรู้ความเข้าใจให้กับพ่อแม่ในการเลี้ยงดูและการส่งเสริมศักยภาพให้กับลูก หรือ ใช้วิธีสะดวกและรวดเร็ว เช่น จับสลาก ใช้หลักเกณฑ์บ้านใกล้โรงเรียน หรือ ให้ผู้ที่บ้านใกล้โรงเรียนมีสิทธิ์ในการจับสลากก่อน เป็นต้น

ทั้งนี้ แคมเปญดังกล่าว ในเวลา 20.00 น. มีผู้เข้ามาร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้วกว่า 11,557 รายชื่อ


กำลังโหลดความคิดเห็น