xs
xsm
sm
md
lg

เทียบ 11 บริษัท "ประกันชีวิต" ค่ายไหนผลตอบแทนสูงสุด แนะดูค่า IRR ตรวจสอบกรมธรรม์ หากไม่ตรงบอกเลิกได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำรวจเปรียบเทียบผลประโยชน์ "ประกันชีวิต" 11 บริษัทดัง พบ "อาคเนย์" ให้ผลตอบแทนสูงสุด แนะคนเลือกซื้อประกันให้ขอดูผลตอบแทน IRR ชี้ยิ่งตัวเลขสูงยิ่งคุ้มค่า หรือควรมากกว่าดอกเบี้ยธนาคาร เผยทำประกันสุขภาพแยกต่างหากไม่ได้ ย้ำตรวจสอบก่อนเซ็น ชี้ถูกบอกเลิกสัญญา เคลมไม่ได้ 2 ปัญหาถูกร้องเรียนมากสุด

วันนี้ (18 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.30 น. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงข่าวเปรียบเทียบแพคเกจ "ประกันชีวิต-ประกันสุขภาพ" เจ้าไหนให้ผลประโยชน์มากกว่ากัน โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่เลือกทำประกันชีวิต เพราะคนใกล้ตัวเป็นคนขาย จึงต้องการศึกษาให้เห็นว่า หากใช้ความรู้ในการซื้อประกันชีวิตเราควรเลือกอย่างไร จึงได้ทำการสำรวจเปรียบเทียบผลประโยชน์ของประกันชีวิต จากบริษัทประกันชีวิตที่มีสัดส่วนทางการตลาดสูงสุด 11 รายแรก จากทั้งหมด 22 บริษัท ซึ่งแม้จะเลือกมาเพียง 50% แต่กลับมีสัดส่วนในการครองตลาดถึง 94.3% ทั้งนี้ การสำรวจได้ตั้งโจทย์เป็นการซื้อประกันชีวิตของเพศชาย อายุ 35 ปี โสด ทำงานเป็นพนักงาน ไม่มีความเสี่ยงหรือเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย สนใจเลือกซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ทุนประกันชีวิต จำนวน 200,000 บาท ระยะเวลาคุ้มครองชีวิต 20 – 25 ปี ชำระเบี้ยประกันในช่วง 15 – 20 ปี พร้อมมีค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล และการชดเชยการขาดรายได้ตอนเป็นผู้ป่วย โดยใช้ข้อมูลอัตราค่าห้องพักประเภทเตียงเดี่ยวประมาณ 3,000 บาท/วัน มาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ โดยไปพบตัวแทนขายประกันและเปรียบเทียบใบเสนอราคาที่เปิดเผยในช่วง มิ.ย. 2561

น.ส.สารี กล่าวว่า ผลจากการเปรียบเทียบ พบว่า แต่ละแห่งมีข้อเสนอและเงื่อนไขหลักที่คล้ายคลึงกัน แต่มีเบี้ยประกันชีวิตที่ต้องชำระแตกต่างกัน รวมถึงผลตอบแทน (เงินคืนระหว่างสัญญาหรือเงินปันผล) ที่แตกต่างกัน ในการพิจารณาว่าควรจะเลือกซื้อประกันชีวิตจากบริษัทไหน จึงได้ใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ด้านการเงินมาพิจารณา คือ การใช้ค่า IRR (Internal Rate of Return) ซึ่งเป็นการคำนวณผลตอบแทนต่อปีที่ผู้ซื้อประกันชีวิตจะได้ โดยบริษัทที่ให้ผลตอบแทน IRR ค่าเป็นบวกมากเท่าใด แสดงว่าให้ผลตอบแทนดีกว่า เรียกว่า ค่า IRR ยิ่งมากยิ่งดี และไม่ควรติดลบ โดยพบว่า อาคเนย์ประกันชีวิตให้ค่า IRR มากที่สุดอยู่ที่ 2.23% ตามด้วยเมืองไทยประกันชีวิต 1.64% ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต 1.17% เอไอเอ 1.13% ไทยประกันชีวิต 0.7% กรุงไทยแอกซ่า 0.46% พรูเด็นเชียล 0.39% ไทยสมุทรประกันชีวิต 0.34% อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชัวิต 0.07% FWD -0.42% และกรุงเทพประกันชีวิต -0.253%

"วิธีเลือกของผู้บริโภคควรเลือกที่มี IRR สูง เพราะให้ผลตอบแทนดีที่สุด ซึ่ตอนซื้อประกันควรถามว่าให้ผลต่อแทนต่อปี หรือ IRR เท่าไร ซึ่งอย่างน้อยควรได้ผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยธนาคาร แต่อาจต้องพิจารณาเงื่อนไขอื่นๆ ด้วย เช่น ตัวแทนที่มีคุณภาพ การให้บริการของสำนักงานสาขาต่างๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า ปัญหาสำคัญของประเทศไทย คือ เราไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพได้อย่างเดียว ต้องซื้อประกันหลักก่อน ซึ่งต่างจากต่างประเทศที่สามารถซื้อประกันสุขภาพอย่างเดียวได้ ถือเป็นปัญหาสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการซื้อเฉพาะค่ารักษาพยาบาลบางอย่างเพิ่มเติม" น.ส.สารี กล่าว

ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการผู้เชี่ยวชาญ ด้านการบริการสาธารณะ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า การจะตัดสินใจเลือกซื้อประกันชีวิตแนะนำว่า ให้ถามข้อมูลผลตอบแทนต่อปีหรือ IRR ว่าเป็นเท่าไร แต่ปัญหาคือ มีการบังคับให้ทำประกันชีวิตเป็นสัญญาหลักก่อน ถึงจะทำประกันสุขภาพได้ ซึ่งต่างประเทศจะแยกกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาประกันชีวิตหลักให้ดีเป็นปัจจัยแรกที่ต้องคิด ควรมีความเป็นวิชาการมากขึ้นในการคำนวณ อย่าไปหลงการโน้มน้าวเรื่องประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยรอง เพราะตามหลักประชากรศาสตร์แล้ว คนเราจะป่วยหนักคือ ช่วง 5 ปีแรกและ 5 ปีสุดท้ายของชีวิต แต่เราประกันในช่วงอายุ 35-60 ปี ส่วนการคำนวณประกันสุขภาพเป็นเรื่องยาก เพราะขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ต้องใช้ข้อมูลคนเป็นหมื่นๆ ราย จึงจะสรุปได้ว่า คนจะเข้าโรงพยาบาลกี่ครั้งต่อช่วงอายุกี่ปี อย่างไรก็ตาม หากจะซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติม ต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขการเลือกซื้อประกันสุขภาพร่วมด้วย เพราะประกันสุขภาพเป็นสัญญาเพิ่มเติมที่มีเงื่อนไขบางประการผูกกับประกันชีวิต และการเลือกซื้อแผนค่าห้องพักรักษาพยาบาลว่าต้องการค่าห้องพักต่อวันเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับสัญญาประกันชีวิตหลัก ยิ่งถ้าต้องการอัตราค่าห้องพักต่อวันสูงๆ อาจจะต้องซื้อเบี้ยประกันชีวิตที่เป็นสัญญาหลักเพิ่มขึ้นมากกว่า 200,000 บาท

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาเกี่ยวกับประกันชีวิตที่ถูกร้องเรียนเข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเป็นอันดับต้นๆ คือ เรื่องการถูกบอกเลิกสัญญา เพราะไม่มีการตรวจสุขภาพก่อนทำประกัน ทั้งที่การทำประกันต้องมีการแถลงว่า ไม่มีโรคภัยร้ายแรงมาก่อน เช่น ไม่เคยเป็นเบาหวาน ความดัน มาก่อน แต่ตัวแทนมักไม่ถาม นอกจากนี้ คือไม่มรการชี้แจงเงื่อนไขในสัญญา ทำให้ผู้บริโภคไม่ทราบเงื่อนไขหรือรายละเอียด ทำให้เมื่อไปใช้จริงไม่สามารถเคลมได้ เช่น ต้องเป็น รพ.ในเครือของบริษัทประกันเท่านั้น หรือไม่ครอบคลุมการตรวจด้วยเอ็มอาร์ไอ ซึ่งผู้บริโภคไม่ทราบเลย นอกจากนี้ ยังมีการทำประกันผ่านการกู้ซื้อสินทรัพย์ต่างๆ กับธนาคารด้วย ซึ่งหากไม่ผ่านเรื่องสุขภาพก็กู้สินเชื่อไม่ได้อีกทำให้เกิดปัญหาขึ้น ทั้งนี้ ควรตรวจสอบรายละเอียดก่อนเซ็น หากเป็นโรคเบาหวาน ความดัน ต้องบอกไปเลยเพื่อประกอบการพิจารณาสินเชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกบอกล้างสัญญาภายหลัง หรือมีหลักฐานในการสู้คดีได้ และให้ตรวจสอบในกรมธรรม์ตนเองว่าตรงกับที่คุยหรือไม่ หากไม่ตรงให้บริษัทกลับไปแก้ไขได้ หรือบอกเลิกได้ภายใน 30 วันที่รับกรมธรรม์


กำลังโหลดความคิดเห็น