xs
xsm
sm
md
lg

คร.แจงชาวบ้านนาเรียง เกิดขนลุกพอง น้ำลายไหลมาก หลังกินเนื้อวัว ไม่ใช่อาการพิษสุนัขบ้า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมควบคุมโรค แจงชาวบ้านนาเรียงกินเนื้อวัวตายจากพิษหมาบ้า มีอาการขนลุกขนพอง ปวดกล้ามเนื้อ ไม่ใช่อาการโรคพิษสุนัขบ้า เหตุระยะสั้นเกินไปที่โรคฟักตัว และยังไม่พบผู้ติดเชื้อ เดินหน้ามห้วัคซีนทั้งหมด

จากกรณีชาวบ้าน ต.นางเรียง อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช กว่า 250 คน เดินทางไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า หลังพบว่า เนื้อวัวที่รับประทานไปนั้น เป็นวัวที่ถูกหมาบ้ากัดตาย แต่ ส.อบต.เสียดายนำมาชำแหละในราคาถูกนั้น โดยมีชาวบ้านให้ข้อมูลว่าเกิดอาการรู้สึกขนลุกขนพอง ปวดกล้ามเนื้อ น้ำลายไหลเยอะ 

วันนี้ (17 ก.ย.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ตนได้สั่งการให้ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมลงพื้นที่กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปศุสัตว์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อดำเนินการสอบสวนโรค เร่งค้นหา ติดตามผู้สัมผัสโรค ซึ่งไม่พบผู้ติดเชื้อแต่อย่างใด จากอาการตามรายงานข่าว จึงไม่ใช่อาการของพิษสุนัขบ้า โดยระยะฟักตัวของโรคพิษสุนัขบ้าในคนเฉลี่ย 3 สัปดาห์ - 6 เดือน เนื่องจากระยะเวลาสั้นเกินไป อย่างไรก็ตามทาง สสจ.ได้ดำเนินการให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว และคอยเฝ้าระวังดูอาการต่อไป

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ประชาชนที่ชำแหละเนื้อวัวตัวดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงที่จะสัมผัสกับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าผ่านสารคัดหลั่งทั้งเลือดและน้ำลายของสัตว์ ส่วนกลุ่มเสี่ยงรองลงมา คือ ผู้ที่ปรุงประกอบอาหารหรือสัมผัสเนื้อสัตว์ดิบ ผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์แบบดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ กรณีผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ ต้องเฝ้าระวัง จึงขอให้ประชาชนอย่านำสัตว์ที่สงสัยว่าป่วยตายผิดปกติมาชำแหละ ปรุงเป็นอาหารรับประทาน และไม่ขายหรือนำไปให้สัตว์อื่นกินเด็ดขาด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัส สัตว์ตายโดยไม่สวมเครื่องป้องกัน
ทั้งนี้ ประชาชนบางส่วนยังมีความรู้และความเชื่อเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าที่ไม่ถูกต้อง เช่น โรคพิษสุนัขบ้าสามารถรักษาให้หายได้ ไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต จึงส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น และการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายผิดปกติ ยังเสี่ยงเป็นโรคแอนแทรกซ์ โรคบรูเซลโลสิส และโรคไข้หูดับอีกด้วย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า วิธีป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์ที่ตายจากการติดเชื้อ คือ 1.หากพบสัตว์ตายหรือป่วยตายผิดปกติ ขอให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อดำเนินการวินิจฉัย และกำจัดอย่างถูกต้อง 2.หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือชำแหละซากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรค หากจำเป็นต้องสัมผัสให้สวมถุงมือยางและหน้ากากอนามัยทุกครั้ง 3.หลีกเลี่ยงนำสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่สงสัยว่าป่วยตายมากิน แจกจ่าย ขาย หรือนำไปให้สัตว์อื่นกิน 4.หลีกเลี่ยงการซื้อหรือบริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422


กำลังโหลดความคิดเห็น