รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ใช้แอปพลิเคชัน "Oral Screen" คัดกรองค้นหา "มะเร็งช่องปาก" ระยะแรก อบรมเจ้าหน้าที่ และ อสม. ให้ใช้งาน ช่วยพบผู้ป่วยตั้งแต่ระยะแรกได้ไว รักษาได้เร็ว
ทพญ.กานต์สุดา อินทจักร์ ทันตแพทย์ด้านเวชศาสตร์ช่องปาก โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวว่า รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ร่วมกับศูนย์ทันตระหว่างประเทศ กรมอนามัย จัดทำโครงการคัดกรองรอยโรคมะเร็งช่องปาก (Chaingrai Model) โดยใช้แอปพลิเคชัน Oral Screen คัดกรองรอยโรคมะเร็งช่องปากเชิงรุก ให้ทันตบุคลากรในคลินิกทันตกรรม โรงพยาบาลชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขที่ผ่านการฝึกอบรม เป็นผู้บันทึกข้อมูลการคัดกรองและส่งข้อมูลเพื่อวินิจฉัยโดยแพทย์อย่างเป็นระบบ ทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ช่วยค้นหาผู้ป่วยมะเร็งในช่องปากได้ตั้งแต่ในระยะแรกได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเครือข่ายจัดระบบการจัดการและส่งต่อข้อมูล ซึ่งสามารถพิมพ์ใบนัดแพทย์ได้จากโรงพยาบาลชุมชนทันที
“จากผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 พบว่ารอยโรคก่อนมะเร็งชนิด Leukoplakia และ Erythroplakia จะมีการเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์ที่รุนแรงขึ้นสัมพันธ์กับระยะเวลา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจติดตามผู้ป่วยเป็นระยะ ทำให้สามารถรักษาได้ทันท่วงที ผู้ป่วยไม่มีความพิการ สามารถบดเคี้ยวและพูดออกเสียงได้อย่างปกติ ส่วนการพบรอยโรคมะเร็งช่องปากระยะ 1 หรือ 2 พบว่าผู้ป่วยยังคงมีชีวิตอยู่หลังจากตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาได้มากกว่า 5 ปีถึงร้อยละ 80” ทพญ.กานต์สุดา กล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงที่เกิดมะเร็งช่องปากคือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ผู้สูงอายุ ผู้สูบบุหรี่ กินหมาก โดยรอยโรคมะเร็งช่องปาก ที่สังเกตเห็นได้ง่าย ได้แก่ รอยขาว รอยแดง หรือรอยขาวร่วมกับรอยแดงบริเวณเหงือก กระพุ้งแก้ม เพดาน ลิ้น ริมฝีปากด้านในและด้านนอก อาจเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ แต่ไม่สามารถหายได้ภายในสองสัปดาห์ รอยโรคมะเร็งช่องปากพบได้เหมือนรอยโรคก่อนมะเร็งแต่อาจมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น พบลักษณะเป็นแผล บวม เป็นก้อน ที่ขยายขนาดเร็ว ร่วมกับการมีต่อมน้ำเหลืองโต หรือฟันข้างเคียงโยก โดยที่ไม่พบสาเหตุการติดเชื้อจากฟัน ซึ่งการตรวจหารอยโรคมะเร็งช่องปากโดยทันตบุคลากร รวมถึงตัวผู้ป่วย ช่วยลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นแก่ครอบครัวผู้ป่วย รวมถึงมีต้นทุนในการดูแลผู้ป่วยต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการรักษาที่ล่วงเลยมาถึงระยะสุดท้าย