"คลินิกหมอครอบครัว" เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่จะมาปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศ โดยมีการกำหนดชัดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2559 ที่ระบุว่า ให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม
แล้ว "คลินิกหมอครอบครัว" จะมาเปลี่ยนแปลงให้ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยดีขึ้นอย่างไร
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า คลินิกหมอครอบครัวจะช่วยลดความแออัด และการรอคอยคิวรักษาที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันได้ เนื่องจากรูปแบบของคลินิกหมอครอบครัว จะมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว พร้อมด้วยทีมสหวิชาชีพ เช่น พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร หมออนามัย นักกายภาพบำบัด เป็นต้น รวมกันเป็น "ทีมหมอครอบครัว" ในการดูแลประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ การมีทีมหมอครอบครัว 1 ทีม ดูแลประชาชน 10,000 คน เปรียบเสมือนมีหมอประจำตัว เพราะทีมหมอครอบครัวจะดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งตรวจรักษา ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ฟื้นฟูสภาพ และงานคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้น เมื่อเกิดการเจ็บป่วยจึงไม่ต้องไปกองกันที่โรงพยาบาล แต่มีทีมหมอครอบครัวดูแล ซึ่งรูปแบบดังกล่าวถือเป็นการเดินตามรอยของประเทศทางแถบยุโรป
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัด สธ. กล่าวว่า เป้าหมายการจัดตั้งคลินิกหมอครอบครัว จะแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะสั้น ลดความแออัด ลดการใช้บริการที่โรงพยาบาล 60% ลดการรอคอยในโรงพยาบาลใหญ่ 172 นาที - 44 นาที และลดการนอนโรงพยาบาล 15-20% 2.ระยะกลาง ลดป่วยช่วยป้องกันและควบคุมโรค ลดการตายของทารกแรกเกิด 10-40% และเพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงอายุ และ 3.ระยะยาว ลดค่าเดินทางของประชาชนไปโรงพยาบาล 1,655 บาทต่อคน ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 25-30% และช่วยรัฐประหยัดงบประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี
"คลินิกหมอครอบครัวจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายโดยรวมของประเทศไปได้ 5 หมื่นล้านต่อปี จากการไปใช้บริการคลินิกหมอครอบครัว เช่น การรักษาเบาหวานในโรงพยาบาลใหญ่กับคลินิกหมอครอบครัวต้นทุนต่างกัน ซึ่งที่คุยกันไว้ คือ จะให้หมอครอบครัวดูโรคในผู้สูงอายุทั้งหมด เพราะปัจจุบันผู้สูงอายุเข้ารับการรักษาจะต้องเจอหมอหลายคนกว่าจะจบการรักษา และจากข้อมูลในต่างประเทศ พบว่า หากประเทศใดมีคลินิกหมอครอบครัว ค่าใช้จ่ายก็จะลดลง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" นพ.เจษฎา กล่าว
เรียกว่าประเทศไทยกำลังจะมี "แพทย์ประจำตำบล"
นพ.เจษฎา ระบุว่า คลินิกหมอครอบครัว จะเป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งใหญ่ ซึ่ง นพ.โสภณ เมฆธน อดีตปลัด สธ. เคยกล่าวไว้ว่า ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะมีการส่งแพทย์ลงตำบล ทุกครอบครัวจะเข้าถึงบริการโดยมีหมอประจำตัว ซึ่งเหมือนมีแพทย์เชี่ยวชาญทุกสาขามาดูแลใกล้ชิด และมีความคุ้นเคยกับหมอ ซึ่งขณะนี้ได้นำร่องใน 8 จังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง โดยเลือกจากจังหวัดที่มีความพร้อมที่จะผลักดันเรื่องนี้ที่จะเป็นต้นแบบของคลินิกหมอครอบครัว ได้แก่ 1.รพ.ขอนแก่น 2.รพ.กำแพงเพชร 3.รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก 4.รพ.เพชรบูรณ์ 5.รพ.น่าน 6.รพ.บุรีรัมย์ 7.รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ และ 8.รพ.ตรัง ซึ่งในวันที่ 18 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางเป็นประธานเปิดศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง คลินิกหมอครอบครัว รพ.เพชรบูรณ์ สาขาคลองศาลา
"จากการนำร่องพบว่า บางแห่งเรียกว่าแทบจะปิดบริการผู้ป่วยนอกได้ เพราะกระจายผู้ป่วยไปยังคลินิกหมอครอบครัว หรืออย่างใน จ.เพชรบูรณ์ ก็พบว่า คนสามารถเข้าถึงบริการและได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง แพทย์จะรู้จักคนไข้ทั้งครอบครัว หากมีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ที่ต้องการการดูแลที่บ้านก็จะลงไปดูแลจากเดิมที่ไปหาโรงพยาบาลเจอหมอแค่ชั่วครู่ก็กลับบ้าน แต่รูปแบบนี้จะพลิกโฉมการดูแลระบบสุขภาพของคนไทยใหม่" นพ.เจษฎา กล่าว
นพ.เจษฎา กล่าวว่า อย่างคลินิกหมอครอบครัว รพ.เพชรบูรณ์ สาขาคลองศาลา ซึ่งมีอาคารที่ทำการขนาด 5 ชั้น มีครุภัณฑ์ที่จำเป็นตามกำหนด 19 รายการ โดยอยู่ห่างจาก รพ.เพชรบูรณ์ 4 กิโลเมตร ดูแลคนในเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์กว่า 26,000 คน เป็นเพศชาย 12,000 กว่าคน เพศหญิงอีกกว่า 13,800 คน รวม 17 ชุมชน 6,710 หลังคาเรือน โดยแบ่งทีมหมอครอบครัวออกเป็น 3 ทีม โดยเป็นทีมสหวิชาชีพที่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด คือ ทีมแรกดูแลประชากร 10,000 คน ทีมสองดูแล 9,600 กว่าคน และทีมสามดูแลอีก 8,100 กว่าคน ให้บริการแบบวันสต็อปเซอร์วิส เน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คัดกรองผู้ป่วยตามกลุ่มวัย จัดบริการอุบัติเหตุฉุกเฉิน ผู้ป่วยนอกเบื้องต้น เยี่ยมบ้าน ดูแลผู้สูงอายุ จัดระบบส่งต่อ เชื่อมโยงข้อมูลกับโรงพยาบาลแม่ข่าย ซึ่งจากการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 พบว่า ระยะเวลารอคอยเมื่อเทียบกับ รพ.เพชรบูรณ์ลดลง 3-5 เท่า ส่งผลให้บริการผู้ป่วยนอกมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึ 1.5 เท่า หรือเฉลี่ย 2,996 ครั้งต่อเดือน จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลที่บ้านเพิ่มขึ้น 2 เท่า การควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยใช้วิธีการเป็นที่ปรึกษาสุขภาพร่วมวางแผน ทำให้ควบคุมโรคได้ดีขึ้น กลุ่มวัยรุ่นวัยเรียนสามารถค้นหาเด็กที่หลงทางสู่สารเสพติดกลับคืนสู่ชีวิตปกติมากกว่าร้อยคน ช่วยคืนลูกแก่ครอบครัว ขณะที่ประชาชนมีความพึงพอใจในการบริการถึงร้อยละ 91.25
ไทยสุกงอมที่จะขับเคลื่อนคลินิกหมอครอบครัว
นพ.เจษฎา กล่าวว่า จากตัวอย่างคลินิกหมอครอบครัวโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ สาขาคลองศาลา ทำให้เห็นชัดว่า การขับเคลื่อในเรื่องนี้มีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก ที่จะได้รับบริการที่ดีขึ้น ซึ่งในการขับเคลื่อนคลินิกหมอครอบครัวจะเน้นในตัวเมืองมากกว่า เพราะกว่า 50% คนจะอยู่ในเมืองมากกว่า ส่วนในชนบทก็จะมี รพ.สต.ในการดูแล จึงมองว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องขับเคลื่อนคลินิกหมอครอบครัวให้เป็นรูปธรรมในทุกพื้นที่
นพ.เจษฎา กล่าวว่า จริงๆ ประเทศไทยเคยมีการขับเคลื่อนหมอครอบครัวมาตั้งแต่ปี 2532 โดย นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ แต่ที่ไม่สำเร็จ เพราะถือว่าเป็นเรื่องยาก และในอดีตประเทศไทยยังมีจำนวนแพทย์ไม่เพียงพอ ขนาดประเทศอังกฤษยังต้องใช้เวลาถึงกว่า 2 ทศวรรษจึงจะสำเร็จ ในการทำให้ชาวบ้านมีความศรัทธากับทีมหมอครอบครัว ซึ่งประเทศไทยคิดว่าจะใช้มากกว่านั้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มองว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ เนื่องจากประเทศไทยสามารถผลิตแพทย์จบใหม่ได้ปีละ 3 พันคน โดยประมาณว่ามีแพทย์ไปเรียนต่อเฉพาะทางราวปีละ 1.5 พันคน หากไปทำคลินิกเสริมความงามปีละ 500 คน ก็จะเหลือแพทย์อีก 1 พันคน หากส่งเสริมให้แพทย์ที่เหลือนี้ไปเรียนเวชศาสตร์หมอครอบครัว ก็จะช่วยให้มีหมอครอบครัวเต็มพื้นที่ เรียกว่า คนเริ่มมีความพร้อม และระบบการเงินการคลังก็ค่อนข้างพร้อม เพราะมีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง
"ในอดีตเรามีแพทย์น้อย และไม่คิดว่าแพทย์สาขานี้จะมา ทำให้ไม่มีการเตรียมความพร้อม แม้แต่ในโรงเรียนแพทย์เองก็ยังมีการเรียนการสอนด้านนี้น้อย แต่ขณะนี้มีความพร้อมแล้ว เพราะประเทศไทยมีแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ ค่อนข้างมาก และแต่ละปีเราผลิตแพทย์ได้เพียงพอ หากสามารถนำแพทย์ที่เรียนจบมาเรียนต่อแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวปีละ 1,000 คน ใช้เวลา 10 ปี ก็จะได้ 10,000 คน ซึ่งน่าจะเพียงพอในการดูแลประชาชนทั้งประเทศ" นพ.เจษฎา กล่าว
นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีปัญหาโรคเรื้อรังต่างๆ ตามมามากมาย และต้องได้รับการดูแล ซึ่งหากไม่มีหมอครอบครัวมาช่วยรองรับตรงนี้ เพื่อลดโรคเรื้อรังต่างๆ งบประมาณในระบบจะไม่เพียงพอแน่นอน ซึ่งปัจจุบันก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลและ สธ.ต้องทำคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในการมาใช้บริการคลินิกหมอครอบครัวแทนค่านิยมที่ประชาชนมักจะไปพบแพทย์เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลใหญ่เลย
นพ.เจษฎา ระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำ ในการสร้างความเชื่อมั่นความเชื่อถือแก่ชาวบ้าน โดยอย่างแรกคือ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวต้องเป็นแพทย์ที่เรียนจบด้านนี้มาโดยเฉพาะ คือ เรียนแพทย์ 6 ปี และต่อเฉพาะทางเวชศาสตร์ครอบครัวอีก 3 ปี ไม่ใช่แค่ไปเรียนเพิ่ม 3 เดือน คือ ต้องเอาของจริงลงไปในพื้นที่ นอกจากนี้ ตึกอาคารก็ต้องมีความน่าเชื่อถือ จึงเป็นสาเหตุที่ว่า คลินิกหมอครอบครัวจำเป็นที่จะต้องมีอาคารทำการในการดูแลประชาชนเป็นหลักแหล่ง มีรูปแบบที่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่ไปอยู่กันตามศาลาวัด จึงต้องมีการลงทุนในเรื่องคน ตึกอาคาร และเครื่องมือต่างๆ ว่ามีความพร้อมในการดูแลประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ ต้องอาศัยความใกล้ชิดด้วย ตนเชื่อว่าโดยหลักของวัฒนธรรมไทยแล้ว หากหมอมีความใกล้ชิดและมีความรู้สามารถ ก็สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการมาใช้บริการหมอครอบครัวได้ เพราะขนาดหมออนามัยยังสามารถทำได้เลย
หากสร้างความศรัทธาในทีมหมอครอบครัวได้ การปฏิรูประบบสาธารณสุข ลดแออัด ลดรอคอย ลดค่าใช้จ่ายสุขภาพ มีหมอประจำตัวดูแลก่อนไปโรงพยาบาล ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น