xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” เตรียมเปิดตึก “คลินิกหมอครอบครัว” ชูพลิกโฉมระบบสุขภาพ ลดรอคิว ลดแออัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“บิ๊กตู่” เตรียมเปิด “คลินิกหมอครอบครัว” รพ.เพชรบูรณ์ 1 ใน 8 จังหวัดนำร่อง วันที่ 18 ก.ย. นี้ พลิกโฉมระบบสาธารณสุข ลดแออัด ลดรอคิว รพ.ใหญ่ หมอใกล้ชิดประชาชน เพิ่มคุณภาพดูแลผู้ป่วยเรื้อนัง ผู้สูงอายุ ลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวกว่า 5 หมื่นล้านบาท

วันนี้ (10 ก.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการดำเนินงานคลินิกหมอครอบครัวเพื่อประชาชน (Primary Care Cluster : PCC) ว่า คลินิกหมอครอบครัว เป็นนโยบายกระทรวงสาธารณสุขที่เดินตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในอัตราส่วนที่เหมาะสมตั้งแต่ปี 2559 โดยได้จัดเป็นคลินิกหมอครอบครัว 1 ทีม ดูแลประชาชน 10,000 คน ซึ่งทีมหมอครอบครัวอย่างน้อยต้องมีแพทย์ 1 คน พยาบาล 2 คน และนักวิชาการสาธารณสุขอีก 2 คน แต่หากทีมใหญ่ก็จะมีหลากหลายสาขามากขึ้น ที่ผ่านมา มีการดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะตัวเมืองที่มีผู้ป่วยจำนวนมากเข้ารับบริการในโรงพยาบาลจังหวัด แต่หากมีคลินิกหมอครอบครัวก็จะช่วยลดความแออัด ลดการรอคอยได้

“ที่ผ่านมา มีการดำเนินงานคลินิกหมอครอบครัวนำร่องพื้นที่ที่มีความพร้อม 8 แห่ง ได้แก่ 1.รพ.ขอนแก่น 2.รพ.กำแพงเพชร 3.รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก 4.รพ.เพชรบูรณ์ 5.รพ.น่าน 6.รพ.บุรีรัมย์ 7.รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ และ 8.รพ.ตรัง ซึ่งคลินิกหมอครอบครัวที่ตั้งในโรงพยาบาลทั้ง 8 แห่ง จะทำงานประสานร่วมกับบุคลากรในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในการทำงานดูแลสุขภาพประชาชน ทั้งส่งเสริมป้องกันโรค และให้บริการการรักษา ลดการรอคิว ซึ่งในวันที่ 18 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางเป็นประธานเปิดศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง คลินิกหมอครอบครัว รพ.เพชรบูรณ์ สาขาคลองศาลา ซึ่งเป็น 1 ใน 8 จังหวัด” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า คลินิกหมอครอบครัวจะทำงานซ้ำกับ รพ.สต. หรือไม่ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ไม่ต้องกังวลว่า จะซ้ำซ้อน แต่จะเป็นการเสริมกันในการให้บริการประชาชน แต่คลินิกหมอครอบครัวจะช่วยดูแลในกลุ่มเมืองใหญ่ที่มีประชากรมาก และจะเน้นทำงานเชิงส่งเสริมป้องกันโรค แต่ทั้งหมดก็จะต้องทำงานร่วมกัน แต่การจัดบริการรูปแบบนี้ถือเป็นการพลิกโฉมการบริการด้านสาธารณสุขแบบใหม่ที่ใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น เพราะทีมหมอครอบครัวจะรู้ประวัติสุขภาพของประชาชนที่ตนเองดูแล จะรู้ว่าครอบครัวนี้มีสมาชิกกี่คน และมีโรคประจำตัวอะไร หรือมีความเสี่ยงก่อโรคอย่างไร เช่น หากรัฐบาลมีนโยบายป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ทางทีมหมอครอบครัวก็จะทราบว่า ต้องไปส่งเสริมอย่างไร และทำงานร่วมกับ รพ.สต.ในการให้บริการอย่างเหมาะสม เป็นต้น

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัด สธ. กล่าวว่า เป้าหมายการจัดตั้งคลินิกหมอครอบครัว จะแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะสั้น ลดความแออัด ลดการใช้บริการที่โรงพยาบาล 60% ลดการรอคอยในโรงพยาบาลใหญ่ ลดการนอนโรงพยาบาล 15-20% 2.ระยะกลาง ลดป่วยช่วยป้องกันและควบคุมโรค ลดการตายของทารกแรกเกิด 10-40% เพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงอายุ และ 3.ระยะยาว ลดค่าเดินทางของประชาชนไปโรงพยาบาล 1,655 บาทต่อคน ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 25-30% และช่วยรัฐประหยัดงบประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี


กำลังโหลดความคิดเห็น