xs
xsm
sm
md
lg

ผู้หญิงยังมองความรุนแรงในครอบครัว "เรื่องส่วนตัว" ไม่ควรบอกใคร อึ้ง! ไม่รู้จัก กม.คุ้มครองฯ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พม.เผยความรุนแรงใน "ครอบครัว" พุ่งเกือบ 2 พันราย เด็ก-ผู้หญิงถูกกระทำมากสุด ชุมชนบางกอกน้อยชี้ผู้หญิง 41% มองความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ควรยุ่งไม่ควรบอกใคร ยอมทนเพราะลูก รัก และ อับอาย 58% ไม่รู้จัก พ.ร.บ.คุ้มครองฯ 27% ไม่รู้มีหน่วยงานคอยช่วยเหลือ มูลนิธิฯ หญิงชายก้าวไกล สสส. พม. เดินหน้าสร้าง 10 ชุมชนนำร่องพื้นที่ปลอดภัย ไร้ความรุนแรง

วันนี้ (10 ก.ย.) ที่โรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพฯ นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในเวทีเสวนา “พื้นที่ปลอดภัยในชุมชน เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว” ว่า จากข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า ปี 2559 มีเด็กและสตรีถูกกระทำความรุนแรงเข้ารับบริการเฉลี่ยวันละ 55 ราย ปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 58 ราย และจากรายงานของศูนย์ช่วยเหลือสังคม พม. พบว่า ปี 2560 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรง 2,870 ราย เป็นความรุนแรงในครอบครัว 1,850 ราย หรือร้อยละ 64.46 ผู้ถูกกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นสตรีและเด็ก สาเหตุ คือ การมีความคิดว่า ตนเองเหนือกว่า ใช้อำนาจกับผู้ที่ด้อยหรืออ่อนแอกว่าได้ ปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ สัมพันธภาพที่ไม่ดีในครอบครัว สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย การใช้สารเสพติด ปัญหาสุขภาพกายหรือจิต ครอบครัวมีปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมา สค.มีโครงการที่ช่วยแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อสตรีและในครอบครัว มี 6 ชุมชนนำร่อง 6 เขต คือ 1.ชุมชนสวนอ้อย เขตคลองเตย 2.ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เขตประเวศ 3.ชุมชนริมคลองบางซื่อรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง 4.ชุมชนประดิษฐ์โทรการ เขตจตุจักร 5.ชุมชนหลังโรงกรองน้ำภาษีเจริญ เขตบางกอกใหญ่ และ6.ชุมชนหน้าวัดโคนอน เขตภาษีเจริญ และในพื้นที่ต่างจังหวัดสนับสนุนให้ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) จัดกิจกรรมส่งเสริมสัมพันธภาพในครอบครัว เฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ส่งเสริมการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้มีกลไกเฝ้าระวังดูแลช่วยเหลือเบื้องต้น

น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการทำโครงการพัฒนาและเสริมศักยภาพระบบการคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลในครอบครัวโดยชุมชน ปีที่ 4 นำร่อง 4 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนบ้านคำกลาง ตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ชุมชนซอยพระเจน เขตปทุมวัน กทม. ชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย กทม. และชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิต กทม. พบว่า เกิดการช่วยเหลือผู้มีปัญหาความรุนแรง หรือมีการส่งต่อทีมสหวิชาชีพ มีการขยายเครือข่ายพื้นที่ปฏิบัติการหรือชุมชนให้กว้างมากขึ้น เชื่อมกลไกระดับพื้นที่ มีการเฝ้าระวัง สอดส่องปัญหาความรุนแรงในครอบครัวโดยการพัฒนากลไกในพื้นที่ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และการขับเคลื่อนพื้นที่ปลอดภัยทางสังคมระหว่างเครือข่ายชุมชนนำร่อง ชุมชนขยายและทีมสหวิชาชีพในพื้นที่เกิดเป็นคณะทำงานปฏิบัติงานได้จริง

นายอำนาจ แป้นประเสริฐ แกนนำเครือข่ายชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ กล่าวว่า จากการสำรวจปัญหาความรุนแรงในครอบครัวปี 2561 โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงอายุ 20-60 ปี จำนวน 2,762 ราย ใน 40 ชุมชน เขตบางกอกน้อย พบว่า ผู้หญิงร้อยละ 79.4 มีความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว เช่น ตบตี ชกต่อย เตะ กัด บีบคอ กระชาก แต่ที่น่าห่วง คือ ผู้หญิงร้อยละ 41.5 ยังมองปัญหานี้เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ควรเข้าไปยุ่ง ไม่ควรบอกใคร ส่งผลให้เมื่อประสบเหตุไม่มีใครกล้าช่วยเหลือ ส่วนผู้ประสบเหตุไม่กล้าบอกใครเพราะอาย ขณะที่เหตุการณ์ที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด คือ ร้อยละ 80 ใช้คำพูดหยาบคาย ดุด่า ร้อยละ 77.8 ติดเหล้า พนัน ยาเสพติด อันดับสาม ร้อยละ 77.5 สามีเจ้าชู้ คบหลายคน นอกใจ และไม่รับผิดชอบครอบครัว ทำลายข้าวของในบ้าน ที่น่าห่วงคือ ร้อยละ 70.7 ถูกทุบตี กระชากแขน ดึงผม ตบหน้า นอกจากนี้ยังทำให้เสียชื่อเสียง เช่น ประจาน ทำให้อับอาย หรือกักขัง ไม่ให้ออกไปไหน

"สาเหตุที่ผู้หญิงส่วนใหญ่อดทนต่อความรุนแรง มาจาก ทนเพราะมีลูก ทนเพราะรัก ทนเพราะอับอาย ซึ่งเป็นระบบวิธีคิดชายเป็นใหญ่ ปลูกฝังให้ผู้หญิงต้องอดทน และมองว่าปัญหาครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่กล้าให้คนภายนอกรับรู้ สำหรับวิธีแก้ปัญหา เมื่อเกิดความรุนแรง คือ เลือกปรึกษาเพื่อน ปรึกษาคนในครอบครัว ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 27.7ไม่ทราบด้วยซ้ำว่า เขตบางกอกน้อยมีหน่วยงานชุมชนให้ความช่วยเหลือ และเกินครึ่ง ร้อยละ58 ไม่ทราบว่ามี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ที่น่าห่วงมาก คือ หากเก็บเงียบ เก็บอารมณ์ จะนำไปสู่การโต้กลับที่รุนแรงและปัญหาการฆ่าตัวตาย ดังนั้น ครอบครัว ชุมชน และหน่วยงาน จึงเป็นกลไกสำคัญในการคุ้มครองผู้ประสบปัญหา ภาครัฐต้องอบรมให้ความรู้เรื่องกฎหมาย เรื่องสิทธิ จัดกิจกรรมเน้นสร้างความสามัคคีในชุมชน มีเจ้าหน้าที่ เช่น นักจิตวิทยา ปรึกษา และเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา" นายอำนาจ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น