xs
xsm
sm
md
lg

ไทยยังเฝ้าระวังเข้ม “โรคเมอร์ส” หลังพบผู้ป่วยในเกาหลีใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมควบคุมโรค แจงไทยยังเฝ้าระวังเข้ม “โรคเมอร์ส” หลังพบผู้ป่วยที่เกาหลีใต้ ชี้ เป็นช่วงคนเดินทางไปร่วมพิธีฮัจญ์ มีความเสี่ยงติดเชื้อได้ เฝ้าระวังเข้ม 3 ระดับ แนะประชาชนเดินทางกลับจากตะวันออกกลางใน 14 วัน มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง

วันนี้ (9 ก.ย.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีข่าวพบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส ในประเทศเกาหลีใต้ ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าวเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลท้องถิ่น เพื่อรักษาโรคอุจจาระร่วง ส่วนในประเทศไทยมีการติดตามสถานการณ์โรคเมอร์สในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เน้นมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคให้เข้มข้นทุกระดับ โดยเฉพาะช่วงนี้ของทุกปีที่มีผู้แสวงบุญเดินทางไปประกอบศาสนกิจ ที่ประเทศซาอุดีอาระเบียจำนวนมาก ซึ่งการรวมตัวกันของคนหมู่มากอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยจากโรคติดต่อต่างๆ ได้ รวมถึงโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส ได้เช่นกัน

“ที่ผ่านมา มีรายงานพบผู้ป่วยโรคเมอร์สในประเทศแถบตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง และมีรายงานพบผู้ป่วยโรคดังกล่าวในประเทศแถบเอเชียบางประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจึงยังมีความเสี่ยงจากการที่มีผู้เดินทางเข้าออกประเทศ ทั้งจากการเดินทางท่องเที่ยว เดินทางเพื่อประกอบธุรกิจ และเดินทางไปแสวงบุญ จึงจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีการเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้น” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับการป้องกันโรคเมอร์สในประเทศไทย กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคอย่างต่อเนื่องทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ 1.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ 2.โรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน และ 3.ในชุมชน โดยเฉพาะในด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ในช่องทางเข้า-ออกประเทศ จัดพื้นที่คัดกรองผู้เดินทาง ในกรณีที่พบผู้เดินทางสงสัยป่วย จะแยกผู้เดินทางและนำส่งโรงพยาบาล เพื่อให้การรักษาตามมาตรฐานที่กำหนดต่อไป สำหรับประชาชนที่กลับจากประเทศแถบตะวันออกกลาง หากภายใน 14 วัน มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หรือมีน้ำมูก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค ประวัติการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่สงสัยโรคเมอร์ส หรือเข้าโรงพยาบาลท้องถิ่น หรือมีการเข้าฟาร์มสัตว์ หรือสัตว์ป่าต่างๆ หรือดื่มน้ำนมดิบโดยไม่ผ่านการฆ่าเชื้อโรค โดยเฉพาะนมอูฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น