เครือข่ายผู้บริโภค ซัดร่าง พ.ร.บ.ยา ไม่คุ้มครอง ปชช. ผุดข้อเสนอจี้มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค มีกลไกเพิกถอนยาอัตโนมัติ เภสัชฯต้องอยู่ประจำร้าน โฆษณาต้องขออนุญาต คง 3 วิชาชีพจ่ายยาตามกฎหมายเดิม ยื่นโครงสร้างราคายาเมื่อขอขึ้นทะเบียน
วันนี้ (7 ก.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภูมิภาค แถลงข่าวประเด็น อย. แก้ไข พ.ร.บ. ยา โดย น.ส.จุฑา สังขชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวว่า ปัญหาหลักของร่าง พ.ร.บ. ยา พ.ศ. ... คือ ลดความเข้มข้นของการคุ้มครองผู้บริโภคและไม่ได้แก้ปัญหาที่มีต่อผู้บริโภค ได้แก่ ไม่มีมาตรการเพิกถอนทะเบียนตำรับยาอัตโนมัติ ในตำรับยาที่ถูกถอนทะเบียนในต่างประเทศหรือบริษัทแม่แล้ว เปิดโอกาสให้เภสัชกรไม่ต้องอยู่ประจำร้านยาตลอดเวลา ส่งผลต่อการแพทย์ปฐมภูมิ และปัญหาการแขวนป้ายรุนแรงเพิ่มขึ้น การแขวนป้ายโดยวิชาชีพอื่น ลดมาตรการควบคุมการโฆษณาจากการขออนุญาตเหลือแค่จดแจ้ง ขาดมาตรการควบคุมการโฆษณาทางอินเทอร์เน็ต ไม่มีมาตรการควบคุมการขายยาในสื่อออนไลน์ ทั้งที่เป็นปัญหาที่รุนแรงที่สุดในปัจจุบันและอนาคต
นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ยา ยังขยายอายุทะเบียนตำรับยาจากร่างเดิม 5 ปี เป็น 7 ปี โดยที่ไม่มีกระบวนการทบทวนทะเบียนตำรับยา เปิดโอกาสให้มีการดำเนินการส่งเสริมการขายยาผ่านผู้ประกอบวิชาชีพ โดยเฉพาะเรื่องการแถมพก ชิงรางวัล ออกรางวัลหรือวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกัน จากผู้ประกอบวิชาชีพ ถือว่าไม่มีความผิด ลดทอนการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาในคลินิก เพราะเปิดให้วิชาชีพอื่นขายยาที่ถูกแบ่งประเภทอย่างไม่เป็นสากล และไม่แก้ปัญหาเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุผลในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งทำให้เป็นปัญหา โรคเชื้อดื้อยา และเปิดช่องให้มีการจดแจ้งเภสัชชีววัตถุทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีการควบคุมคุณภาพอย่างมาก
น.ส.พวงทอง ว่องไว ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ยา ขาดมาตรการการจัดการกับผู้ประกอบการที่กระทำความผิดซ้ำซาก เช่น การโฆษณาโอ้อวด หลอกลวง เป็นเท็จ ผิดกฎหมาย ขาดกลไกและอำนาจหน้าที่ที่อนุญาตให้ อย. สามารถตรวจสอบและจัดการโครงการวิจัยทดลองยา ที่จะคุ้มครองอาสาสมัครในการวิจัยฯ หากเกิดความเสียหายหรือผิดพลาดร้ายแรง ไม่มีมาตรการสนับสนุนการใช้ยาที่สมเหตุสมผล การแบ่งประเภทยาออกเป็น 4 ประเภท จะส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาที่ไม่สมเหตุสมผล เกิดปัญหาการใช้ยาเกินความจำเป็น เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจยาทั้งในปัจจุบันและอนาคต และทำให้เกิดการเข้าไม่ถึงยาจำเป็นเพราะราคาแพงเนื่องจากไม่มีข้อกำหนดที่จะต้องยื่นโครงสร้างราคาเมื่อขอขึ้นทะเบียนยา กับ ไม่มีคณะกรรมการยาที่มีอำนาจหน้าที่กำกับหรือควบคุม หรือออกมาตรการควบคุมราคายาได้ ในขณะที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการได้เพียงห้ามจำหน่ายเกินราคาในฉลากข้างกล่อง รวมทั้งยังสามารถติดราคาข้างกล่องเท่าใดก็ได้
สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภูมิภาค ได้จัดทำข้อเสนอต่อร่าง พ.ร.บ. ยา ดังนี้ การคุ้มครองผู้บริโภค 1. กำหนดให้มีกลไกเพิกถอนทะเบียนตำรับยาที่เป็นอันตรายโดยอัตโนมัติ เมื่อมีการเพิกถอนทะเบียนตำรับยาในต่างประเทศหรือในบริษัทแม่ 2. กำหนดให้ต้องมีเภสัชกรประจำอยู่ที่ร้านตลอดเวลาเปิดทำการ (ยกเลิก ม.115 ในร่าง พ.ร.บ.ฯ ให้กลับไปใช้ ม.14 ของ พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 “ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการต้องอยู่ประจำสถานที่ผลิตยา สถานที่ขายยา หรือสถานที่นำเข้า หรือสั่งยา เข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรได้เพียงแห่งเดียว”) โดยจะต้องมีแต่ร้านขายยาประเภท ขย.1 เท่านั้น 3. การโฆษณายาจะต้องขออนุญาตจาก อย. ก่อน ซึ่งรวมถึงโฆษณาทางอินเตอร์เน็ตและ social media ต่างๆ หากพบว่าไม่ได้รับอนุญาต หรือทำผิดจากที่ได้รับอนุญาต ต้องถูกเพิกถอนทันที
4. ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาและการส่งเสริมการขายที่กระทำผ่านผู้ประกอบวิชาชีพ ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ 5. แก้ไขให้ทะเบียนตำรับยามีอายุ 5 ปี และต้องทบทวนทะเบียนตำรับยาก่อนต่ออายุ 6. กำหนดให้การแบ่งประเภทยาเป็นไปตามหลักสากล (Prescription Only Medicines, Pharmacy Only Medicines และ Over-the-counter Medicines) และให้คงวิชาชีพที่จะจ่ายยาได้มีเพียงแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์เหมือนเดิม 7. กำหนดให้การผลิตหรือผสมยาที่ใช้รักษาสัตว์ทั้งฟาร์มจะต้องได้รับอนุญาตจาก อย. ก่อน
8. กำหนดให้มีการขออนุญาตสำหรับการผลิตและการนำเข้าเภสัชชีววัตถุ 9. ต้องกำหนดโทษทางปกครอง เพื่อระงับเหตุที่กระทำผิดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค (ต้องมีการกระบวนการตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน จำกัดการประกอบการ เพิกถอนใบอนุญาต ปรับทางปกครอง) และ 10. กำหนดให้ อย. มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลและตรวจสอบโครงการวิจัยทดลองยาในมนุษย์ เพื่อคุ้มครองอาสาสมัครที่เข้าร่วมงานวิจัย
การใช้ยาที่สมเหตุสมผล กำหนดให้การแบ่งประเภทยาเป็นไปตามหลักสากล (Prescription Only Medicines, Pharmacy Only Medicines และ Over-the-counter Medicines) และให้คงวิชาชีพที่จะจ่ายยาได้มีเพียงแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์เหมือนเดิม
การเข้าไม่ถึงยาเพราะราคาแพง 1. กำหนดให้ต้องยื่นโครงสร้างราคายาเมื่อขอขึ้นทะเบียนตำรับยา (ม. 44 : ร่างฉบับก่อนหน้านี้มี ม.44 (11) โครงสร้างราคายา ให้นำกลับมาใส่ไว้ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้) และ 2. กำหนดให้คณะกรรมการยามีอำนาจในการออกมาตรการควบคุมราคายา ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคและเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน