xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงสังคมไทยโดดเดี่ยวมากขึ้น แนะหาเพื่อนซี้ป้องกัน “ฆ่าตัวตาย” ไม่ใช่แค่เพื่อนโซเชียล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมสุขภาพจิต ยันอัตราฆ่าตัวตายประเทศไทยลดลง แต่พบสูงขึ้นในผู้สูงอายุ นายกสมาคมจิตแพทย์ฯ ชี้ ญาติคิดผู้สูงอายุปลงได้แล้ว ปล่อยให้อยู่คนเดียว เพิ่มเสี่ยงฆ่าตัวตาย ห่วงสังคมไทยโดดเดี่ยวมากขึ้น ชูสร้างความสัมพันธ์ต่อกันทั้งในครอบครัวและเพื่อน ช่วยป้องกันฆ่าตัวตายได้ ย้ำไม่ใช่แค่เพื่อนในไลน์-เฟซบุ๊ก แต่ต้องเป้นคนที่ไว้ใจได้ ระบุมี 5-6 คน ช่วยป้องกันฆ่าตัวตายได้ถึง 89%

วันนี้ (7 ก.ย.) ที่โรงพยาบาลราชวิถี นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวในโครงการการสัมมนาการป้องกันการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 12 ว่า ช่วงที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกเผยแพร่ข้อมูลการฆ่าตัวตายของประเทศไทยว่า สูงถึง 16 ต่อแสนประชากร อยู่อันดับ 3 ของโลก ทั้งที่ใช้ตัวเลขอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จเดียวกันที่ประมาณ 4,000 คนต่อปี ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานขอทราบวิธีการคำนวณอัตราการฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ตาม ส่วนของประเทศไทยใช้หลักการคำนวณที่เป็นมาตรฐานสากล โดยใช้อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จที่ยืนยันในใบมรณบัตรคำนวณร่วมกับสถิติประชากรกลางปีที่ได้จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายของไทยลดลงเรื่อยๆ โดยปี 2558 มีอัตราฆ่าตัวตาย 6.47 ต่อแสนประชากร ปี 2559 อยู่ที่ 6.35 ต่อแสนประชากร และปี 2560 ข้อมูลถึงวันที่ 15 พ.ค. 2561 อัตราฆ่าตัวตาย 6.03 ต่อแสนประชากร แต่อัตราการฆ่าตัวตายกลับสูงขึ้นในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุติดบ้าน และกลุ่มเด็กอายุ 10-19 ปี จากเดิมที่เป็นกลุ่มวัยทำงาน ซึ่งในส่วนของเด็กและวัยรุ่นจะพบประมาณ 140-160 คนทุกปี ส่วนปี 2561 ยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลที่เป็นทางการ แต่เป็นความรู้สึกในฐานะผู้เสพสื่อในปัจจุบัน ถือเป็นเรื่องที่นิ่งเฉยไม่ได้ ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามพื้นที่ พบว่า ภาคเหนือ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ยังมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในประเทศ ขณะที่พื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง 4 อำเภอของ จ.สงขลา มีอัตราฆ่าตัวตายต่ำที่สุดในประเทศ

รศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การป้องกันฆ่าตัวตาย จะต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัย คือ 1. ปัจจัยเสี่ยง ซึ่งมักจะแก้ไม่ได้ เช่น มีประวัติการฆ่าตัวตายมาก่อน ครอบครัวเคยมีการฆ่าตัวตาย มีการใช้สารเสพติด หรือมีโรคทางจิตเวช จะต้องใช้วิธีในการเฝ้าระวัง 2. ปัจจัยกระตุ้น เป็นเรื่องเปลี่ยนแปลงไม่ได้เช่นกัน แต่ฝึกเรื่องวิธีการจัดการปัญหาได้ และ 3. ปัจจัยปกป้อง คือ ดูแลสุขภาพกายและจิตได้ดี การเชื่อมโยงกับคนรอบๆ มีทักษะชีวิตดี ยอมรับนับถือตัวเอง จะช่วยลดความเสี่ยงในการทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตายลงได้ ซึ่งปีนี้สมาคมจิตแพทย์ฯ เน้นเรื่องการเชื่อมโยงเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถช่วยเหลือกันได้

รศ.นพ.ชวนันท์ กล่าวว่า มีผลวิจัยชัดเจนว่า คนที่มีความเชื่อมโยงกับบุคคลรอบๆ ได้มาก อัตราทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายจะต่ำกว่าคนที่โดดเดี่ยว ไม่มีเพื่อน แต่การเชื่อมโยงกับคนรอบๆ ไม่ได้หมายความว่า การมีเพื่อนในไลน์และเฟซบุ๊กมาก หรือมีคนติดตามทางโซเชียลมีเดียมาก แต่ต้องเป็นคนที่เราไว้ใจ ไม่ตัดสินเรา อาจจะไม่ใช่คนที่แก้ปัญหาให้เราได้ แต่ช่วยรับฟังเราได้ แค่เพียงคนเดียวก็ยังดี จะช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายได้ ซึ่งมีผลวิจัยว่าถ้ามีเพื่อนที่เราไว้ใจได้ 3-4 คน จะอัตราลดลงฆ่าตัวตายลง 75% หากมี 5-6 คน ลดได้ 89% เพราะในทางจิตวิทยา หากเรามีเพื่อนเราจะรู้สึกว่าเรารู้สึกดีกับตัวเอง และเมื่อเราอยู่ในจุดที่เราตึงเครียด หรือทุกข์ใจก็มีจะคนที่คอยรับฟังเรา ซึ่งไม่เพียงแต่เขาช่วยดูแลเรา หากเขามีปัญหาเราก็ต้องดูแลเขาด้วย

“ปัจจุบันสังคมไทยมีแนวโน้มเป็นสังคมโดดเดี่ยวหรืออยู่คนเดียวมากขึ้น โดยเฉพาะวัยทำงาน หรือแม้แต่ผู้สูงอายุที่เกษียณ คนที่บ้านก็มักจะมองว่า เขาเป็นวัยที่ปลงแล้ว สามารถอยู่คนเดียวได้ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เลย ซึ่งวัยผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูง เพราะเผชิญความสูญเสียมาก ทั้งจากการสูญเสียงานที่ทำจากการเกษียณ การสูญเสียศักยภาพทางด้านร่างกาย หรือโรคประจำตัวต่างๆ ซึ่งหากเขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่มีประโยชน์ และอยู่ตัวคนเดียวก็มีโอกาสสูงที่จะฆ่าตัวตายได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนในครอบครัวจะต้องสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน หรือการมีชมรมผู้สูงอายุที่ทำให้เขาได้เจอคนรอบๆ ตัวมีเพื่อนที่เจาไว้ใจได้ก็จะช่วยได้เช่นกัน” รศ.นพ.ชวนันท์ กล่าว

รศ.นพ.ชวนันท์ กล่าวว่า วิธีในการสร้างความสัมพันธ์นั้น หากเป็นคนในครอบครัว ควรเริ่มจากการใช้เวลาทำอะไรร่วมกัน ในสิ่งที่ชอบเหมือนกัน และไม่ใช่เรื่องที่เครียดจนเกินไป เช่น ดูทีวีร่วมกัน ออกไปกินข้าว เดินเล่น ไปสวนสาธารณะ ไปทะเล หรือแม้แต่ไปชอปปิ้งด้วยกัน ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว และค่อยพัฒนาต่อเนื่องกันไป หรือแม้แต่แค่ซักถามในแต่ละวันว่าคุณปู่ คุณตาวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง เป็นต้น ส่วนการสร้างความสัมพันธ์หรือเพื่อนที่เราไว้ใจที่จะรับฟังทุกอย่างด้วยกันได้นั้น คงไม่ใช่ว่าจะหาเพื่อนแบบนี้ได้เลย แต่จะต้องใช้เวลา โดยต้องเริ่มจากการเปิดใจคบเพื่อนกันอย่างผิวเผินก่อน แล้วดูว่าคนไหนที่มีรสนิยมไปแนวทาเดียวกับเรา ชอบเหมือนเรา ก็ใช้เวลาด้วยกันมากขึ้น สุดท้ายก็จะเปิดใจกันมากขึ้นและยอมรับกันมากขึ้นจนเป็นคนที่เราไว้ใจได้


กำลังโหลดความคิดเห็น