xs
xsm
sm
md
lg

พลิกความเชื่อ "ดื่มวันละดริงก์" ดีต่อสุขภาพ งานวิจัยระดับโลกชี้ชัด ทำตายเพิ่ม เสี่ยงอีกกว่า 200 โรค ไม่มีระดับที่ปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศวส.เปิดงานวิจัยระดับโลก ยันชัด “ดื่มเล็กน้อย” ดีต่อสุขภาพ ลดอัตราตาย ไม่ใช่เรื่องจริง เผยเก็บข้อมูลกว่า 2.8 ล้านคนทั่วโลก พบดื่มแค่ 1 ดริงก์ต่อวัน ก็เพิ่มอัตราตายถึง 4 ต่อแสนประชากร เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคกว่า 200 โรค วอนคนสาธารณสุขอัปเดตความรู้ เลิกเผยแพร่ความเชื่อดื่มวันละนิดดีต่อสุขภาพ

วันนี้ (6 ก.ย.) ที่โรงแรมเอเชีย ผศ.นพ.อุดมศีกดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการศูรย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ (CE-HSMR) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวในงานเสวนา “ดื่มระดับที่ปลอดภัย...มีจริงหรือ” จัดโดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ศวส. และเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา ว่า ในอดีตที่ผ่านมามีงานวิจัยออกมาบอกว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับที่ปลอดภัย คือ ดื่มในปริมาณ 1 ดริงก์ หรือประมาณ 10 กรัม เทียบเท่ากับเบียร์ 1 กระป๋อง หรือไวน์ 1 แก้วต่อวัน จะช่วยให้สุขภาพดี ลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ แต่ล่าสุด มีงานวิจัยใหม่เรื่อง ภาระโรคจากการดื่มสุรา ซึ่งเก็บข้อมูลมากกว่า 20 ปี คือ ตั้งแต่ปี 1990-2016 โดยทีมวิจัยมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเก็บข้อมูลจาก 694 แหล่งข้อมูล 592 งานวิจัย 195 ประเทศ รวม 2.8 ล้านคน ถือเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับความเสี่ยงของแอลกอฮอล์ที่ใช้ข้อมูลเยอะที่สุดที่เคยมีมา และได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับโลกอย่าง Lancet

ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า จากงานวิจัยดังกล่าว พบว่า ในปี 2016 ประชากรโลกเสียชีวิตจากสุราถึง 2.8 ล้านคน และยืนยันชัดว่า ไม่มีระดับที่ปลอดภัยในการดื่ม ไม่ว่าจะดื่มปริมาณเท่าไรก็ส่งผลต่อสุขภาพ โดยงานวิจัยยังชี้ว่า การดื่มเพียง 1 ดริงก์ต่อวันในทุกๆ วัน จะเพิ่มการตาย 4 คนในประชากร 1 แสนคน แม้การดื่มสุราเพียงเล็กน้อย อาจลดความเสี่ยงของโรคหัวใจชนิดเส้นเลือดอุดตัน แต่ก็ส่งผลดีเอาในช่วงผู้หญิงวัยกลางคน และผู้ชายในวัยอายุ 90 ปี แต่เพิ่มจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคกว่า 200 โรค ทั้งกลุ่มโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งจับ เต้านม ช่องปาก หลอดอาหาร กล่องเสียง และลำไส้ใหญ่ วัณโรค เส้นเลือดในสมองแตก หัวใจวายจากความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยเฉพาะในเพศชายจะเสี่ยงกว่าเพศหญิง ดังนั้น การป้องกันโรคต่าง งานวิจัยจึงแนะนำว่า การไม่ดื่มเลยจะดีที่สุด ซึ่งในวันที่ 21-22 พ.ย. 2561 จะมีการจัดเวทีประชุมวิชาการสุราแห่งชาติ ในโอกาสครบรอบ 10 ปี พ.ร.บ. ควคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งจะมีการรวบรวมงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศมาตีแผ่ในงาน

“ขณะนี้เทรนด์งานวิชาการของโลกกำลังมุ่งไปสู่เรื่องของการไม่ดื่มเลยจึงจะมีสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยงในการเกิดโรค ไม่ใช่แนวคิดเดิมที่ว่า สามารถดื่มวันละ 1-2 ดริงก์ สะท้อนได้จากคำแนะนำต่างๆ ของต่างชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2016 มีการออกไกด์ไลน์การดื่มให้ความเสี่ยงต่ำ ก็ระบุว่า ไม่มีระดับใดที่ปลอดภัยโดยเฉพาะการเกิดโรคมะเร็ง หรือแม้แต่ World Cancer Reseach Fund ก็ระบุว่า ถ้าอยากป้องกันมะเร็งจะต้องไม่ดื่มเครื่องด่มแอลกอฮอล์เลย ดังนั้น อยากฝากกลุ่มวิชาชีพทางด้นสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันยังมีคนเชื่องานวิจัยในอดีตว่า ดื่มวันละนิดวันหน่อยแล้วดีต่อสุขภาพ และยังแนะนำคนไข้ ขอให้ทำงานบนหลักวิชาการว่า เมื่อมีข้อมูลงานวิจัยใหม่ก็ต้องเปลี่ยน เลิกเผยแพร่ความเชื่อ ส่วนพฤติกรรมการดื่มของวิชาชีพทางด้านสาธาณสุข ก็ขอให้เห็บไว้เป็นส่วนตัว ไม่โพสต์ออกไป มิเช่นนั้นคนไข้ก็จะไม่เชื่อถือ" ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวและว่า มองว่าจะต้องีการสื่อสารงานวิจัยดังกล่าวออกไปเป็นจำนวน เพื่อสร้างความรับรู้ และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม แต่จะต้องมีการย่อยข้อมูลงานวิจัยขนาดใหญ่ดังกล่าวที่มีมากกว่า 2,000 หน้า ให้เป็นภาษาไทยแบบเข้าใจง่าย เพื่อนำไปใช้อ้างอิงได้ โดยเฉพาะรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรที่จะนำประเด็นดังกล่าวมาสื่อสารกับประชาชน เพื่อเปลี่ยนความเชื่อที่มาอยู่เดิม

นายคำรน ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า วงจรของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ การสร้างวาทกรรม ทำงานสื่อสาร และการล็อบบี้นโยบายสาธารณะต่างๆ ซึ่งเป็นเหมือนกันทุกที่ทั่วโลก การสร้างวาทกรรมเพื่อมาสนับสนุนทางการตลาด เช่น มาตรฐานการดื่ม คือ 1 ดริงก์ ซึ่งที่มาของเรื่องนี้ คือ ร่างกายสามารถขับแอลกอฮอล์ได้ 10 กรัม ใน 1 ชั่วโมง จึงนำงานวิจัยที่ว่าดื่มเล็กน้อยดีต่อสุขภาพและเรื่องนี้มาสร้างเป็นวาทกรรม ซึ่งปัจจุบันมีงานวิจัยออกมาชัดแล้วว่า ดื่มแค่เล็กน้อยก็ส่งผลต่อสุขภาพด้วย หรือกินแล้วดี กินแล้วเป็นยา เรื่องได้เพื่อน ได้มิตรภาพ การดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ โดยมีการทำแคมเปญร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในลักษณะซีเอสอาร์ แล้วเข้าไปสื่อสารกันถึงสถานศึกษา ว่าดื่มอย่างไรให้เมาน้อยที่สุด ดื่มอย่างมีความรับผิดชอบเป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อดื่มเข้าไปแล้ว แอลกอฮอล์ทำให้สติสัมปะชัญญะลดลง จะมีความรับผิดชอบได้อย่างไร หรืออย่างการล็อบบี้ก็นโยบายทำภาพคำเตือนบนขวดเครื่องดื่ม ทุกวันนี้ก็ยงออกไม่ได้ สิ่งสำคัญ คือ ต้องเท่าทันกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องการทำโลโก้คล้ายกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้วมาใช้สื่อสารในกิจกรรมต่างๆ แทน ซึ่งจริงๆ เขาก็ไม่ได้ต้องการขายน้ำ โซดา แต่ต้องการขายแอลกอฮอล์



กำลังโหลดความคิดเห็น