xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.แจง “ร้านสัก” กิจการอันตรายสุขภาพ มอบท้องถิ่นควบคุมขึ้นทะเบียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปลัด สธ.แจง “ร้านสัก” เป็นกิจการอันตรายต่อสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่มอบอำนาจหน้าที่ให้ท้องถิ่นดำเนินการควบคุมและอนุญาตเปิดร้าน แวดวงสาธารณสุขเผยตรวจสอบติดเชื้อเอชไอวียาก ผู้ให้ข้อมูลต้องเปิดเผย

จากกรณี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า กิจการร้านสักนั้นต้องขออนุญาตกับทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ส่วน กทม.รับผิดชอบในการดูแลตรวจสอบไม่ให้มีร้านสักเถื่อนนั้น

วันนี้ (4 ก.ย.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัด สธ. กล่าวว่า สธ.ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2558 มีทั้งหมด 13 ประเภท รวม 141 กิจการ ซึ่งกิจการสักผิวหนังหรือเจาะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย จัดอยู่ในประเภทที่ 9 กิจการที่เกี่ยวกับการบริการ รายการที่ 18 จาก 21 รายการ โดยท้องถิ่นต้องออกข้อบัญญัติท้องถิ่น การควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามประกาศฉบับนี้ กำหนดให้เป็นกิจการที่ต้องควบคุมและขออนุญาตดำเนินกิจการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/สำนักงานเขต ในพื้นที่ที่เปิดกิจการ ส่วน สธ.จะดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน ให้คำปรึกษากับท้องถิ่นในการใช้อำนาจตามกฎหมาย และมีคณะกรรมการรับเรื่องอุทธรณ์จากผู้ประกอบการและประชาชน

ทั้งนี้ กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2558 จำนวน 13 ประเภท ได้แก่ กิจการที่เกี่ยวกับ 1.สัตว์เลี้ยง 2.สัตว์และผลิตภัณฑ์ 3.อาหาร เครื่องดื่ม น้ำดื่ม ยกเว้นในสถานที่จำหน่วยอาหาร การเร่ขาย การขายในตลาด และการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน 4.ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด 5.การเกษตร 6.โลหะหรือแร่ 7.ยานยนต์ เครื่องจักรหรือเครื่องกล 8.ไม้หรือกระดาษ 9.การบริการ 10.สิ่งทอ 11.หิน ดิน ทราย ซีเมนต์ หรือวัตถุที่คล้ายคลึง 12.ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ถ่านหิน ถ่านโค้ก และสารเคมีต่างๆ และ 13.กิจการอื่นๆ กิจการเหล่านี้ ต้องขออนุญาตเปิดกิจการจากท้องถิ่น และตรวจความปลอดภัย เพราะเป็นกิจการที่อันตรายต่อสุขภาพ เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน

แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข ระบุว่า เรื่องร้านสักนั้น แม้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่ด้วยไม่มีบุคลากรเพียงพอในการดำเนินงาน จึงมอบอำนาจให้แต่ละท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการแทน ส่วนเรื่องผู้ป่วยเสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวีจากการสักหรือจากสาเหตุอื่นนั้น สธ.ค่อนข้างให้คำตอบยาก เพราะเป็นสิทธิผู้ป่วย หากครอบครัวไม่เปิดเผยเองก็ยาก อีกทั้งกรณีที่บอกว่ามีอีก 3 รายไปสักและเสียชีวิตด้วยนั้นก็ต้องไปสอบถามกับผู้เปิดเผย ซึ่งทุกอย่างยากไปหมด เพราะหากผู้เปิดเผยไม่บอกรายละเอียดก็จะไปตามหายากว่าเป็นใคร เสียชีวิตเพราะติดเชื้อเอชไอวีจากการสักหรือไม่ สิ่งสำคัญตอนนี้ที่ทำได้คือ การป้องกัน ไม่ว่าใครอยากจะสักก็ต้องตรวจสอบร้านให้ดี ให้ได้มาตรฐานมีความสะอาด เป็นไปตามมาตรฐานก็จะป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น