xs
xsm
sm
md
lg

พระสงฆ์อาพาธ “ข้อเข่าเสื่อม” เพียบ เสี่ยงขาโก่ง ผิดรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมการแพทย์เผย “พระสงฆ์” อาพาธจาก “ข้อเข่าเสื่อม” ปีละกว่าพันราย ส่งผลบิณฑบาตร สวดมนต์ นั่งสมาธิไม่ได้ ปล่อยไว้นานเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน ข้อเข่าผิดรูป ขาโก่ง แนะใช้งานข้อต่างๆ อย่างถูกต้องควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อยในพระสงฆ์สูงอายุซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะต้องทุกข์ทรมานจากอาการปวด บวม อักเสบ และเจ็บข้อเข่าขณะเคลื่อนไหว จึงเป็นสาเหตุทำให้พระอาพาธด้วยโรคข้อเข่าเสื่อมไม่อยากเคลื่อนไหว ส่งผลให้ข้อเข่าติดหรือข้อเข่าผิดรูปไปในที่สุด จากสถิติของผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลสงฆ์ ปี 2558 พบพระสงฆ์อาพาธด้วยโรคดังกล่าว จำนวน 1,014 รูป ปี 2559 จำนวน 2,708 รูป และปี 2560 มีจำนวน 981 รูป สำหรับผู้ป่วยในปี 2558 จำนวน 48 รูป ปี 2559 จำนวน 56 รูป และปี 2560 จำนวน 50 รูป

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม คือ กระดูกอ่อนของข้อเข่าหรือผิวข้อสึกกร่อน เป็นผลทำให้ข้อต่อเสียดสีกันจนเกิดการอักเสบ ปวด บวม โดยปกติแล้วกระดูกอ่อนที่ฉาบผิวข้อต่อ มีหน้าที่ในการป้องกันการเสียดสีกันของกระดูกข้อ เมื่อมีการเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น เดิน ยืน ลุกนั่ง โดยเฉพาะนั่งขัดสมาธิ คุกเข่าสวดมนต์ จะทำให้ข้อต่อต้องทำงานประสานกันอย่างต่อเนื่อง เมื่อกระดูกอ่อนที่ข้อต่อบางลง กระดูกข้อต่อจะเสียดสีกันจนเกิดอาการอักเสบ ในรายที่มีการอักเสบของข้อเข่าจะมีอาการข้อเข่าบวมเป็นๆ หายๆ อาการข้อฝืด หรือตึงข้อในขณะเคลื่อนไหว จะมีอาการหลังตื่นจากการจำวัด ไม่สามารถขยับข้อเข่าได้ตามปกติ หรือมีอาการขณะเปลี่ยนท่า ทำให้ไม่สามารถทำกิจของสงฆ์ได้คล่องแคล่วเหมือนเดิม หากปล่อยไว้นานจะเกิดภาวะแทรกซ้อน คือ ข้อเข่าผิดรูป ขาโก่งจากข้อเข่าเสื่อมได้

นพ.สมนึก อร่ามเธียรธำรง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กล่าวว่า การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมขึ้นอยู่กับระยะของการเสื่อมของข้อและระดับความรุนแรง โดยการรักษาแบ่งเป็นการรักษาแบบประคับประคองอาการ และการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า การพบแพทย์เพื่อประเมินอาการจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากที่สุดในการวินิจฉัยโรคและระยะความรุนแรง ในกรณีพระสงฆ์สูงอายุที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมไม่มาก แพทย์จะแนะนำให้ลดการใช้งานของข้อ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อข้อ ร่วมกับประคบอุ่นหรือสมุนไพร เพื่อบรรเทาอาการปวดบวม และรับประทานยาแก้ปวดหรือฉีดยาเข้าข้อเพื่อลดอาการอักเสบ หรือน้ำข้อเทียมตามที่แพทย์สั่ง หากการเสื่อมของข้อเข่ารุนแรงมากจนไม่สามารถทำวัตรปฏิบัติศาสนกิจได้ แพทย์จะผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าโดยใส่ข้อเข่าเทียมให้ ทั้งนี้พระสงฆ์สูงอายุที่มีโรคประจำตัวซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัด แพทย์จะใช้วิธีนี้ในกรณีผู้ป่วยที่ข้อเข่าเสื่อมจนข้อถูกทำลายอย่างมากแล้วเท่านั้น ดังนั้น การใช้ข้ออย่างถูกวิธี ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อมในพระสงฆ์สูงอายุ


กำลังโหลดความคิดเห็น