กทม.ยินดีร่วมกรมอุทยานฯ สำรวจ “ตัวเหี้ย” ในสวนลุม หลังพบจำนวนยังไม่ตรงกัน “บิ๊กวิน” รับควบคุมได้ยาก เหตุเหี้ยฉลาด รู้จักกลบซ่อนไข่ แจงพลิกโอกาสทำเป็นนิทรรศการเรียนรู้ชีวิตเหี้ยแทนการจับไปปล่อย ต้องถามความเห็นประชาชนเอาด้วยหรือไม่
จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) นับตัวเงินตัวทองหรือตัวเหี้ยในสวนลุมพินีใหม่ หลัง กทม.ระบุมีมากกว่า 400 ตัว แต่กรมอุทยานฯ ระบุว่า ไม่ถึง 160 ตัว และให้จัดนิทรรศการชมตัวเหี้ยเพื่อให้เยาวชนศึกษาความรู้แทน หลังจาก กทม.เสนอขอให้กรมอุทยานฯ ช่วยจับ เพราะสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนที่มาสวนลุม
วันนี้ (3 ก.ย.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า การสำรวจจำนวนตัวเหี้ยร่วมกับกรมอุทยานฯ นั้น ทาง กทม.เองก็ยินดี ส่วนที่จำนวนไม่เท่ากันนั้น เพราะการควบคุมประชากรตัวเหี้ยยังทำได้ยาก เนื่องจากสัตว์เลื้อยคลานประเภทเหี้ย ออกลูกเป็นไข่ครั้งละเกือบ 10 ฟอง และเหี้ยจะฉลาด คือ มักคาบไข่ไปฝังดิน หรือกลบซ่อนไว้ จึงควบคุมจำนวนเหี้ยได้ยาก ส่วนข้อเสนอที่จะทำเป็นนิทรรศการเพื่อให้ความรู้ เพื่อสำรวจหรืออนุรักษ์ไว้ กทม.ไม่มีปัญหา แต่ถามว่าสังคมจะรับได้หรือไม่ ตนไม่ทราบ คงต้องถามความคิดเห็นของประชาชนด้วยว่าคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า สำหรับหน้าที่การจับตัวเหี้ยเป็นหน้าที่กรมอุทยานฯ กทม.มีหน้าที่ดูแลไม่ให้มาสร้างความหวาดกลัวต่อผู้มาใช้บริการสวนสาธารณะ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ปี 2559 มีการจับตัวเหี้ยเพื่อลดจำนวนประชากร โดยนำไปส่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี 150 ตัว และปี 2560 จับไปอีก 150 ตัว กทม.คาดว่า สวนลุมพินียังเหลือเหี้ยอยู่ประมาณ 400 ตัว ขณะที่กรมอุทยานฯ บอกว่าไม่น่าจะถึง 400 ตัว