xs
xsm
sm
md
lg

คณะเภสัชฯ จุฬาฯ จี้ชะลอร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ประชุมแก้ประเด็นปัญหาก่อนมีประท้วง ด้าน อย.แจง 10 ข้อดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ออกแถลงการณ์ 5 ข้อเรียกร้อง ขอให้ชะลอร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ ขอ รมว.สธ.จัดประชุมปรับแก้ประเด็นปัญหา ก่อนเกิดการประท้วง ด้าน อย. แจง 10 ข้อดี ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่เน้นคุ้มครองประชาชน เภสัชกรต้องอยู่ประจำร้านยาตลอดเวลาทำการ

วันนี้ (3 ก.ย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนา “มุ่งมั่น แน่วแน่ แก้ไข (ร่าง) พ.ร.บ. ยา เพื่อปวงประชาปลอดภัย” โดย ผศ.ดร.ภญ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ได้อ่านแถลงการณ์ของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ที่ต่อร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่ ว่า ขณะนี้หลายฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่ดังกล่าว เพราะฉะนั้นจะมีการเคลื่อนไหวออกมาในหลายภาคส่วนที่ออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ยา ทั้งนี้ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะสถาบันการศึกษา จึงแสดงจุดยืนเพื่อให้ความรู้เรื่องของ พ.ร.บ. ยา ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อความปลอดภัยของการใช้ยาในประชาชน และเพื่อให้ พ.ร.บ. ยาเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด จึงขอเสนอว่า

1.ให้ชะลอการนำร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่นี้ เสนอต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 2.ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จัดให้มีการประชุมหารือกับผู้ที่คัดค้าน เพื่อปรับแก้ไขในประเด็นที่เป็นปัญหา 3.ให้มีการปรึกษาหารือระหว่างสถาบันการศึษาทางเภสัชศาสตร์ เครือข่ายวิชาชีพ ประชาชน ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข 4.กระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งดำเนินการ ก่อนการคัดค้านจะขยายตัวไปเป็นการประท้วง และ 5.การร่าง พ.ร.บ.ยา ต้องอยู่บนหลักวิชาการ ความสอดคล้องระหว่างสากลและสถานการณ์สังคม โดยต้องไม่ปิดกั้นการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

“ประเด็นหลักๆ ที่ห่วงของร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้มี 2 เรื่อง คือ กลุ่มยา และวิชาชีพอื่นที่จะมีบทบาทในการจ่ายยา อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังต้องมีการหารือและทำความเข้าใจอีก จึงยังไม่ขอลงรายละเอียด เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง แต่ในเร็วๆ นี้ ทางเครือข่ายเภสัชศาสตร์ 19 สถาบัน จะจัดเวทีทำความเข้าใจในทุกประเด้นให้ชัดเจนขึ้น และต้องการเสนอให้ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่มีทางออกกับทุกฝ่าย ซึ่งทั้งหมดก็ทำเพื่อความปลอดภัยของประชาชน” ผศ.ดร.ภญ.รุ่งเพ็ชร กล่าว

ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้สรุปข้อดีของร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ... จำนวน 10 ข้อ ซึ่งมุ่งเน้นคุ้มครองประชาชน ประกอบด้วย 1.กำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เพื่อให้สามารถกำหนดนโยบายแห่งชาติด้านยา และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ทำให้เกิดความมั่นด้านยาของประเทศ 2.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายาอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดนวัตกรรมด้านยา ประชาชนได้รับประโยชน์ 3.สนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตยาภายในประเทศ เกิดการพึ่งพาตนเองด้านยาของประเทศอย่างยั่งยืน และสามารถลดการนำขเยาจากต่างประเทศ ประชาชนได้รับยาราคาถูกลง 4.ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาจำเป็นได้อย่างทั่วถึง และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทำให้มีทางเลือกการใช้ยาได้หลากหลายประเภท 5.กำหนดให้ร้านยาต้องมีเภสัชกรตลอดเวลาทำการ เพื่อจ่ายยาให้แก่ประชาชนอย่างถูกโรคและปลอดภัย

6.สามารถตอบสนองต่อการดำเนินธุรกิจในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข อย่างเข้มงวดและมีบทกำหนดโทษที่ชัดเจน 7.มีการกำหนดโทษทางปกครอง เพื่อให้เป็นการป้องปรามและสามารถดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็วและเข้มงวด 8.เพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้บริโภค โดยกำหนดให้มีการต่อทะเบียนยาทุก 7 ปี เพื่อตรวจสอบยาที่ได้ต่อทะเบียน ซึ่งยังต้องมีประสิทธิภาพและไม่มีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วย 9.เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการพิจารณาอนุญาตด้านยาให้มีความคล่องตัวและรวดเร็วทันตามกำหนดเวลา และ10. มีการกำหนดประเภทวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยาที่ทันสมัย เช่นเภสัชชีววัตถุ และเภสัชสมุนไพร ที่เพิ่มเติมมาจากเดิม เพื่อให้สามารถตรวจสอบคุณภาพ และกรณีทีเกิดปัญหาด้านยามีผลกระทบต่อประชาชน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อที่กำหนดให้เภสัชกรอยู่ประจำร้านตลอดเวลาทำการ แตกต่างจากเดิมอย่างไร นพ.สุรโชค กล่าวว่า แตกต่าง เนื่องจากของเดิมกำหนดว่า 1 ร้าน 1 ชื่อเภสัชกร ทำให้ความเป็นจริงเภสัชกรไม่สามารถอยู่ได้ตลอดเวลาทำการทุกวัน และหลายร้านก็ใช้วิธีจ้างคนมาอยู่ที่ไม่ใช่เภสัชกร แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ จะระบุไว้ว่า ไม่ว่าจะวันไหนต้องมีเภสัชกร และให้สามารถจ้างเภสัชกรมาประจำร้านได้ ซึ่งก็จะมีในกฎกระทรวงด้วย อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยา นี้ มุ่งเน้นเพื่อประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก










กำลังโหลดความคิดเห็น