xs
xsm
sm
md
lg

น้ำผสม “น้ำย่านางสกัดเย็น” เช็ดตัวผู้ป่วย ช่วยลดไข้สูงได้ดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รพ.พุทธชินราช วิจัยพบใช้น้ำผสมน้ำย่านางสกัดเย็น เช็ดตัวผู้ป่วย ช่วยลดไข้สูงได้ดีกว่าใช้น้ำธรรมดา ประยุกต์ใช้ปฐมพยาบาลได้ เหตุย่านางสกัดเย็นมีฤทธิ์ดับพิษร้อน ช่วยผ่อนคลาย สบายตัว

นางสุนีย์ วังซ้าย พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2561 ที่จะถึงนี้ รพ.พระพุทธชินราชจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “ผลการเช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำธรรมดาผสมน้ำย่านางสกัดเย็น” ซึ่งจากการที่ตนทำการวิจัยศึกษา พบว่า สามารถลดไข้ได้ดี ทั้งนี้ จากสถิติการเข้ารับการรักษา มี.ค.- พ.ค. 2560 พบว่า กลุ่มผู้ป่วยหนักที่มีภาวะติดเชื้อในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุของการตายอันดับ 1 มักมีภาวะไข้สูง อุณหภูมิ 38-40 องศาเซลเซียส ภายหลังจากการเช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำธรรมดา เพื่อนำความร้อนออกทางรูขุมขน พบว่า ไข้ไม่ลด ผู้วิจัยจึงทำการศึกษาโดยการเช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำธรรมดาผสมน้ำย่านางสกัดเย็น เปรียบเทียบผู้ป่วย 2 กลุ่ม คือ เช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา และเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาผสมน้ำย่านางสกัดเย็น จำนวนกลุ่มละ 20 คน เป็นคนไข้ที่มีการติดเชื้อในร่างกายคล้ายกัน อายุเฉลี่ยและอุณหภูมิก่อนเช็ดตัวไม่แตกต่างกัน ทำการศึกษา ก.ย.- ธ.ค. 2560 ใช้วิธีการเช็ดตัวและแปะบริเวณข้อพับ เป็นเวลา 15 นาที ตามแผนการแพทย์วิถีไทยและวัดไข้ซ้ำภายหลังเช็ดตัวแล้ว ทุก 30 นาที

นางสุนีย์ กล่าวว่า ผลการศึกษาวิจัยพบว่า การเช็ดตัวน้ำธรรมดาผสมน้ำย่านางสกัดเย็นมีผลต่อการลดไข้ได้ อุณหภูมิร่างกายลดลงแตกต่างกับการเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียส ชี้ให้เห็นว่าการใช้น้ำธรรมดาผสมน้ำย่านางสกัดเย็นให้ผลในการลดอุณหภูมิร่างกายได้ดีกว่าการใช้น้ำธรรมดาอย่างเดียว ซึ่งผู้ป่วยมีอาการพึงพอใจ สามารถนำไปเผยแพร่ให้แก่ญาติๆ และประชาชนทั่วไปเพื่อประยุกต์ใช้กับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยหนักที่ไม่สามารถรับประทานยาเองได้

ทั้งนี้ น้ำย่านางสกัดเย็นเป็นพืชสมุนไพรมีฤทธิ์เย็น สรรพคุณสามารถดับพิษและลดไข้ได้ หาได้แทบทุกภาคในประเทศไทย วิธีการผสมน้ำย่านางสกัดเย็น คือ ใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดาในสัดส่วน 2 ลิตร ผสมน้ำย่านางสกัดเย็นผสมใบเตย 120 ซีซี แปะไว้บริเวณข้อพับ เช่น ขาหนีบ คอ เป็นต้น ทำพร้อมกับการเช็ดตัวผู้ป่วย เป็นเวลา 15 นาที ผู้ป่วยจะรู้สึกผ่อนคลายและสบายตัว อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในอนาคตจะมีการนำไปเผยแพร่สู่การดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีการติดเชื้อและผู้ป่วยรายอื่นๆ ต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น