xs
xsm
sm
md
lg

กก.ปฏิรูปฯ ด้านสังคม ห่วง “สารเคมี” กระทบเพศสภาพ เพิ่มวิกฤตจำนวนประชากร ลดวัยทำงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ถก 3 คกก.ปฏิรูปประเทศ เผย ด้านสาธารณสุขและสังคม เห็นพ้อง 3 สารเคมีกระทบสุขภาพ จ่อเสนอข้อมูล คกก.แก้ไขปัญหาสารเคมีฯ ด้าน กก.ปฏิรูปฯ ด้านสังคม ห่วงสารเคมี ทำจำนวนวัยแรงงานลด เจ็บป่วยจนทำงานไม่ได้ ตั้งข้อสังเกตทำเพศสภาพและพฤติกรรมทางเพศเปลี่ยน กระทบการเพิ่มประชากร

ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่แบนสารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ทั้งที่มีข้อมูลเกิดผลกระทบต่อสุขภาพชัดเจน โดยภาคประชาสังคมได้ออกมาเปิดโปง 11 เล่ห์กลเบื้องหลังมติดังกล่าว ขณะที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ยืนยันว่า ต้องแบนสารเคมี 3 ชนิด โดยจะมีการหารือกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศอีก 2 คณะ

วันนี้ (21 ส.ค.) ที่อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีการประชุมร่วมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 3 คณะ คือ ด้านสาธารณสุข ด้านสังคม และด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหารือถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต

นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขยังยืนยันตามมติเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปฯ อีก 2 คณะจะต้องไปประชุมต่อ เพื่อให้ได้มติที่ชัดเจนว่าจะแบนหรือไม่ แม้ตัวแทนกรรมการปฏิรูปฯ ด้านทรัพยการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะไม่ได้เข้าประชุม แต่ก็จะสรุปข้อมูลการประชุมให้ รวมถึงจะสรุปผลการหารือในครั้งนี้เสนอต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ในวันที่ 22 ส.ค. ด้วย และหลังจากได้มติที่ชัดเจนจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศอีก 2 คณะ ก็จะเสนอข้อมูลผลกระทบเกี่ยวกับสารเคมี 3 ชนิดทั้งหมด ไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้ข้อมูลครอบคลุมทุกด้าน

นายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมจะประชุมเกี่ยวกับสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ในวันที่ 22 ส.ค. เพื่อให้ได้มติที่ชัดเจน แต่เท่าที่ประชุมรับฟังข้อมูลจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขในวันนี้ พบว่า สารเคมีดังกล่าวมีข้อเสียมากกว่าข้อดี

นายวินัย ดะห์ลัน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม กล่าวว่า ขณะนี้เชื่อว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 3 คณะน่าจะเห็นตรงกัน แต่การตัดสินใจเชิงนโยบายค่อนข้างซับซ้อน หน้าที่ของเรา คือ การให้ข้อมูลผลกระทบต่างๆ ซึ่งในส่วนของกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม มีหลายประเด็นที่จะต้องกลับไปหารือต่อ โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชากรของประเทศในระยะยาว จะมองเพียงในระยะสั้นไม่ได้ และต้องคุยกันในหลายมิติ ไม่ใช่มิติแบนๆ เพียงด้านเดียว

นายวินัย กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าผลกระทบด้านสังคมที่จะเกิดขึ้นจากสารเคมีเหล่านี้ คือ เรื่องของคุณภาพประชากรในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันจำนวนประชากรมีแนวโน้มลดลงอยู่แล้ว โดยเฉพาะวัยแรงงาน และยังต้องได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากสารเคมีอีก ก็จะยิ่งทำให้ประชากรวัยแรงงานน้อยลงไปอีก ไม่เพียงเท่านั้น ผลกระทบสุขภาพไม่ใช่ว่า ทำให้ตายแล้วจบ แต่ทำให้เจ็บป่วยระยะยาว ต้องนอนติดเตียง ก็กลายเป็นภาระให้วัยแรงงานที่มีน้อยและรายได้น้อยอยู่แล้วต้องมาดูแล และเป็นการใช้ทรัพยากรประเทศที่มีอย่างจำกัดมาดูแลด้วย ถือเป็นปัญหาใหญ่ในเชิงสังคม นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่า สารเคมีเหล่านี้อาจมีส่วนทำให้เพศสภาพของคนเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะกระทบกับการเพิ่มประชากรประเทศในอนาคต

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปประทศด้านสังคมและด้านสาธารณสุข ค่อนข้างเห็นพ้องแล้วว่า สารเคมีเหล่านี้มีผลกระทบต่อสุขภาพจริง และอันตรายจากสารเคมี มีทั้งแบบเฉียบพลันและระยะยาว ซึ่งมีการพิสูจน์แล้วว่า มีการปะปนในอาหาร พืชผักผลไม้โดยไม่รู้ตัว ล้างก็ไม่ออก ต้มก็ทำลายไม่ได้ มีโรคที่กำลังบ่มเพาะในคนไทยไม่รู้มากน้อยเท่าไร หรือเกิดโรคไปแล้วมากน้อยแค่ไหน ส่วนเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเพศสภาพ ถือว่าค่อนข้างตรงกับกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมตั้งข้อสังเกต เพราะวิทยาศาสตร์อธิบายได้ว่า สารเคมีมีผลต่อการทำงานของฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป สภาพในสมองที่กำหนดพฤติกรรมด้านเพศก็มีผลเกิดขึ้น

“มีงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ อย่างคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า กบในท้องนามีอวัยวะสืบพันธุ์เปลี่ยนแปลง หรือมหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พบว่า มีผลต่อฮอร์โมนเพศ ซึ่งมีผลให้เกิดมะเร็งเต้านม โดยผลงานวิจัยนี้ยังสอดคล้องกับผลการศึกษาของต่างประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2012 มีการตรวจคอมพิวเตอร์สมองในเด็ก พบว่า สารคลอร์ไพริฟอส มีผลต่อเชาวน์ปัญญา และระบบพฤติกรรมทางเพศ ซึ่งพบว่า พฤติกรรมทางเพศเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเห็นว่าเนื้อสมองส่วนหน้าที่ควบคุมพฤติกรรม จากที่ควรหนาก็บางลง หรือจากที่บางก็หนาขึ้น ส่งผลให้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ศาลสหรัฐฯ ได้สั่งแบนสารเคมีตัวนี้ภายใน 60 วัน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ตนรู้สึกผิดหวังกับคณะกรรมการปฏิรูปฯ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สุดท้ายไม่ได้ส่งผู้แทนมา แม้ตอนแรกเตรียมจะมาแล้วก็ตาม เนื่องจากกังวลว่า จะมีผลต่อการพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีฯ ในวันที่ 22 ส.ค. เพราะจริงๆ หน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปฯต้องไม่คิดเรื่องอื่น คิดเพียงว่าต้องทำงานเพื่อประชาชนคนไทย อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวันที่ 22 สิงหาคม ตนเป็นหนึ่งในกรรมการฯ ซึ่งก็ต้องยืนหยัดว่า สารเคมีเหล่านี้มีอันตราย มีข้อมูลวิชาการมากมาย ล่าสุด ยังพบว่ามีผลต่อตับ ทำไขมันสูง ซึ่งตรงนี้จะมีการรวบรวบข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปเรื่อยๆ เพราะผลกระทบต่อสุขภาพมีมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น