ภาคประชาสังคมแฉ 11 เล่ห์กล เบื้องหลังมติ คกก.วัตถุอันตรายไม่แบนสารเคมี 3 ชนิด จ่อเดินหน้าฟ้องศาลปกครองใน 2 สัปดาห์ วอนผู้รับผลกระทบร่วมแจ้งข้อมูล
จากกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่แบนสารเคมี 3 ชนิด โดยอนุญาตให้ใช้ต่อได้แบบจำกัดการใช้ คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ส่งผลให้กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และภาคประชาชนออกมาคัดค้าน โดยจะมีการเปิดเผยเบื้องหลังมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย
วันนี้ (20 ส.ค.) ที่สวนชีววิถี จ.นนทบุรี มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN) แถลงข่าว “เปิดเผยรายงานที่ถูกปกปิด เบื้องหลังมติไม่แบนสารพิษร้ายแรง” โดยนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า จากรายงานของอนุกรรมการเฉพาะกิจที่พิจารณา และนำเสนอข้อมูลให้แก่คณะกรรมการวัตถุอันตราย พบว่า บทสรุปผู้บริหารระบุว่า ทั้ง 3 สารไม่มีความเสี่ยงจากการบริโภค และไม่มีสารอื่นทดแทนที่ดีกว่า อย่างพาราควอต อ้างว่ายึดจับในดินดี แพร่สิ่งแวดล้อมน้อย ไม่เชื่อมโยงกับระบบประสาทกับโรคเนื้อเน่า ผู้ได้รับพิษจงใจฆ่าตัวตาย และฉีดผิดวิธี ส่วนคลอร์ไพริฟอส เกิดจากเกษตรกรใช้ไม่ถูกต้อง มีพิษปานกลาง ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์และระบบประสาท แต่มีความสัมพันธ์กับพัฒนาทางสมองเด็ก ไกลโฟเซตก็ยังสรุปข้อมูลการก่อมะเร็งไม่ได้ ผลศึกษาการตกค้างในมนุษย์ของไทยมีไม่มากพอ
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า จากรายงานดังกล่าวพบความไม่ชอบมาพากล 11 ประเด็น คือ 1.จงใจเลือกข้อมูลมาสรุปเพื่อสนับสนุนให้มีการใช้สารพิษร้ายแรง เช่น เลือกใช้ข้อมูลศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี ว่า กลุ่มที่รับสารทางปากพบอัตราฆ่าตัวตายร้อยละ 52 ซึ่งปิดบังความเป็นพิษเฉียบพลันสูงกว่าคาร์โบฟูรานถึง 43 เท่า ซึ่งสารคาร์โบฟูรานไทยไม่ได้อนุญาตใช้แล้ว จงใจไม่นำรายงานล่าสุดของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) ปี 2017 ที่ระบุว่า มีพิษเฉียบพลัน แค่จิบเดียวก็ตาย มาประกอบการพิจารณา แต่ในไกลโฟเซต กลับอ้างข้อมูล EPA ว่า สารนี้มีความเป็นพิษน้อย เป็นต้น
2.ซ่อนข้อมูลผลกระทบแบบเนียนๆ เช่น ไม่นำผลการวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พบตกค้างในหอย ปู ปลา และกบ เกินมาตรฐานใน จ.น่าน มาใช้ และลดทอนความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่พบการตกค้างใน จ.หนองบัวลำภู ในระดับสูง โดยไปเก็บตัวอย่างตรวจใหม่ แต่คนละช่วงเวลา ไม่นำผลการตรวจพบขี้เทาทารกสูงถึงร้อยละ 50 ของเด็กแรกเกิดใน 3 จังหวัดของมหิดลมาใช้ และลดทอนผลการตรวจพบในเซรั่มและสะดือแม่และเด็ก โดยอ้างว่าตัวอย่างน้อย จงใจไม่กล่าวถึงพิษเรื้อรังของพาราควอต ที่ทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน ทั้งๆ ที่หลายประเทศที่แบนนำเรื่องนี้เป็นหลัก
3.โยนทิ้งงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ 4.บิดเบือนเหตุผลของการเสนอแบน 5.แปรข้อมูลปิดบังความเสี่ยง 6.ปฏิเสธงานวิจัยใหม่ๆ 7.อ้างข้อสรุปย่อยลดทอนปัญหาใหญ่ 8.เลือกใช้ข้อมูลบรรษัท 9.อ้างความผิดของเกษตรกร 10.ละเลยทางเลือกที่ดีกว่า และ 11.ชี้นำการตัดสินใจของกรรมการ โดยทั้งหมดจะเปิดให้ประชาชนเข้าไปดาวน์โหลดรายงานดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ของไบโอไทย
“ชัดเจนว่า มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพิกเฉยผลต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งทางมูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และภาคีเครือข่าย 700 องค์กร จะเป็นแกนหลักในการฟ้องร้องต่อศาลปกครองดำเนินการกับคณะกรรมการวัตถุอันตราย กรณีขัดต่อมาตรา 12 ในส่วนของกฎหมายเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ เนื่องจากคณะกรรมการบางส่วนมาจากกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสารเคมี และยังละเมิดหน้าที่ในการคุ้มครองประชาชน โดยอยู่ระหว่างประสานไปยังเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเพื่อฟ้องต่อศาลด้วย โดยจะมีการตรวจร่างกายและขอข้อมูลยืนยันจากทางแพทย์ นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีเหล่านี้ติดต่อมาทางเครือข่ายฯ เพื่อร่วมกันเรียกร้องความเป็นธรรม ซึ่งจะดำเนินการภายใน 2 สัปดาห์” นายวิฑูรย์ กล่าว
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ส่วนการประชุมของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 22 ส.ค.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล ก็ต้องจับตามองว่า สุดท้ายจะยึดประชาชนเป็นที่ตั้งหรือไม่ เพราะหากยังเดินตามรอยคณะกรรมการวัตถุอันตราย ประชาชนไม่ยอมแน่ๆ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบ แต่ยังหวังว่าเมื่อนายกฯ ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า มติเดิมไม่ถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องรอติดตาม และยืนยันว่าอย่างไรเสียต้องแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด แต่เป็นห่วงเพราะทราบว่ามี 5 คนที่อาจเกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมสารเคมี อยากให้มีความชัดเจนว่าจะไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 21 สิงหาคม คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข จะประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปฯ ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งจะแถลงภายหลังการประชุมประมาณเวลา 11.00 น. ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เห็นถึงจุดยืนเรื่องนี้ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการฯชุดที่นายกฯตั้งขึ้น และจะประชุมในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล