สสส. ชี้คนไทย 30% ยังไม่เตรียมพร้อมเผ็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ปี 2562 ผู้สูงอายุจะมากกว่าเด็กครั้งแรก อีก 3 ปี ผู้สูงอายุเต็มเมือง ติวเข้ม “ชาญชรา” มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ กินอาหารถูกหลัก รู้จักเข้าสังคม แข็งแรงทั้งกาย-ใจ
วันนี้ (19 ส.ค.) ที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 สยามสแควร์วัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม "ชาญชรา60 มุ่งสู่...สังคมสูงอายุอย่างเข้าใจ" เพื่อสร้างความตระหนัก ให้ความรู้ในการเตรียมความพร้อมเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข สมวัย เป็นพลังขับเคลื่อนสังคม
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า จากสถานการณ์ประชากรผู้สูงอายุไทยในปี 2560 มีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.9 ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ในปี 2564 หรือ อีก 3 ปีข้างหน้า โดยจะมีประชากรสูงอายุจะมีถึง 1 ใน 5 ทั้งนี้ ในปี 2562 จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุมากกว่าประชากรวัยเด็ก โดยคาดว่าจะมีประชากรเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปปีละประมาณ 1 ล้านคน ที่น่าห่วง คือ ยังมีประชากรไทยก่อนวัยสูงอายุกว่าร้อยละ 30 ยังคงไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในอนาคต โดยเฉพาะในมิติด้านสุขภาพ และความมั่นคงทางรายได้
ในด้านสุขภาพพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว และมีโอกาสที่จะเจ็บป่วยจนไม่สามารถดูแลตัวเองได้ หรือต้องมีคนดูแล จนกลายเป็นผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านและติดเตียงได้ นอกจากนี้ภาพรวมการออมของประชากรวัยแรงงานมีเพียง 15 ล้านคน ที่อยู่ในระบบการออมเพื่อการเกษียณ แต่เงินออมเฉลี่ยที่มีก็อาจจะไม่เพียงพอกับเงินหลังเกษียณขั้นต่ำที่จะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมไทยจะต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อม เพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในทุกมิติ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม
นางภรณี กล่าวว่า ในการเตรียมความพร้อมกลุ่มก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ สสส. สนับสนุนให้มีการเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะการดูแลสร้างเสริมให้มีสุขภาพที่ดี ทั้งการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงหลัก เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเส้น การบริโภคอาหารตามหลักโภชนาการ การออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นประจำ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้มีสุขภาพที่ดี ลดโอกาสเกิดโรค โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ควานดันโลหิตสูง
ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุ การดูแลรักษาสุขภาพยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ชะลอการเกิดโรคต่าง ๆ เพื่อเป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรง ช่วยเหลือตัวเองได้ โดยการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม ทั้งกิจกรรมที่ผู้สูงอายุสามารถทำเป็นกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองที่บ้าน หรือในยามว่างหลังเสร็จภารกิจ กิจกรรมสันทนาการงานอดิเรก หรือรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น ลีลาศ การรำไทเก็ก รำไม้พลอง นอกจากนั้นต้องบริโภคอาหารที่ถูกหลัก ลดหวาน มัน เค็ม และมีปริมาณและคุณภาพพอเพียงกับความต้องการของร่างกาย
อีกส่วนที่สำคัญคือ การมีกิจกรรมทางสังคม พูดคุย พบปะเพื่อน ลูกหลาน เพื่อเพิ่มความสุขและมีสุขภาพจิตที่ดี สำหรับกิจกรรมที่ สสส. หนุนเสริมสำหรับผู้สูงอายุได้เข้าร่วม เช่น กิจกรรมชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ ที่เป็นพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ทั้งเรื่องที่ต้องรู้ ควรรู้ อยากรู้ ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนผู้สูงอายุในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ กว่า 1,200 แห่งทั่วประเทศ
สำหรับภายในงานมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เทคนิคการจัดการชีวิตก่อนเข้าสู่สูงอายุจากผู้สูงอายุรุ่นเก๋าเต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพ ทั้งการมีสุขภาพกาย และสุขภาพใจที่ดี อาทิ นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ในวัย 93 ปี, นางศิริกุล ซื่อต่อชาติ หรือป้าป้อมปลูกผัก ในวัย 59 ปี, ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน ในวัย 70 ปี เจ้าของและผู้ก่อตั้งโรงเรียนภัทราวดี, นพ. เฉก ธนะสิริ วัย 93 ปี ผู้ก่อตั้งชมรมอยู่ 100 ปี-ชีวีเป็นสุข และวงดนตรี The Bennetty วงสูงวัยสุดอินดี้