xs
xsm
sm
md
lg

เปิด “สมุนไพร” กินมากเสี่ยงไตเสื่อม ไตวาย ผู้ป่วยควรระวัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดชื่อ “สมุนไพร” กินแล้วส่งผลต่อไต เผยเห็ดหลินจือทำผู้ป่วยฟอกเลือดยิ่งไตเสื่อมไตวาย มะเฟือง ตะลิงปลิง ป่วยเล้ง ทำไตวายเฉียบพลัน แครนเบอรีทำให้เกิดนิ่ว

วันนี้ (16 ส.ค.) ที่โรงพยาบาลสงฆ์ นพ.เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถิติของสมาคมโรคไต พบว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยไตวายเรื้อรัง 17% หรือประมาณ 11 ล้านคน นับว่าเป็นจำนวนที่มาก เมื่อเทียบกับอายุรแพทย์โรคไตทั้งประเทศที่มีเพียง 850 คน หากไม่ลดความเจ็บป่วย ให้ผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากเท่าไร ก็รักษาไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะปัจจุบันมีการโฆษณาสมุนไพรต่างๆ ที่ใช้รักษาโรคไตได้ ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อจำนวนมาก ซึ่งขอยืนยันว่า ยังไม่มีสมุนไพรตัวใดหรือตำรับใดที่มีข้อมูลทางวิชาการเพียงพอว่าสามารถรักษาโรคไตได้อย่างมั่นใจ ทั้งนี้ เข้าใจดีว่าสังคมไทยกำลังพัฒนาและส่งเสริมการใช้สมุนไพรในการรักษาโรค ตนไม่ได้ต่อต้าน เพราะสมุนไพรอาจจะไม่มีผลชัดเจนกับการรักษาโรคไต แต่ยังมีประโยชน์ด้านอื่นๆ แต่การใช้ก็ต้องระวัง

ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประชากรโลกมากกว่า 850 ล้านคน หรือ ประมาณ 11% ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง โดยมีค่าการทำงานของไตลดลงประมาณ 60% ต้องรักษาด้วยการล้างไต 2.5 ล้านคน และอีกไม่กี่ปีจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หรือ 5 ล้านคน สำหรับในประเทศไทยมีผู้ป่วยต้องล้างไตอย่างต่ำ 1 แสนคน เพิ่มขึ้นราวๆ 1 หมื่นคนต่อปี สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการกินยาและสมุนไพร

ผศ.พญ.สุภินดา ศิริลักษณ์ แพทย์อายุรกรรมโรคไต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า สมุนไพรบางชนิดมีผลต่อการทำงานของไต ต้องระวังอย่างยิ่งโดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังแล้ว เช่น

เห็ดหลินจือ เป็นสมุนไพรจีนที่ดังมากในกลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ปัจจุบันข้อมูลของเห็ดหลินจือในการรักษาโรคไตเรื้อรัง ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังไม่ควรรับประทานเห็ดหลินจือ

น้ำลูกยอ (Noni) ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง การรับประทานอาจส่งผลให้มีโพแทสเซียมในเลือดสูง ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและอาจเสียชีวิตได้

มะเฟือง มีกรดออกซาเลตหรือกรดออกซาลิก ทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันในกรณีที่รับประทานมากเกินไป สำหรับในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังไม่ควรรับประทานมะเฟืองเนื่องจากอาจทำให้มีอาการทางระบบประสาท เช่น สะอึก สับสน และชักได้ (ซึ่งไม่เกิดขึ้นในคนปกติ)

ตะลิงปลิง และ ป๋วยเล้ง การรับประทานในปริมาณมากเกินปกติ อาจส่งผลให้เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และเกิดโรคไตเรื้อรังได้

แครนเบอรี่ ส่วนใหญ่มักทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รับประทานมากอาจทำให้เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และอาจส่งผลต่อการทำงานของไตผิดปกติ

และมีรายงานจากทั่วโลกว่า ห้ามใช้สมุนไพร ไคร้เครือ เพราะทำให้ไตวายและเป็นมะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ

การรับประทานสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจส่งผลต่อค่าการทำงานของตับและไตได้ โดยเฉพาะประเด็นของการปนเปื้อนสารอันตรายในสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น แคดเมียม ซึ่งเป็นโลหะหนักที่มีผลต่อไต

ดังนั้น ในคนปกติ หากต้องการรับประทานสมุนไพร ควรเลือกสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน มีการขึ้นทะเบียน ดูแหล่งที่มาของสมุนไพร เช่น การเพาะปลูกที่ได้มาตรฐาน ปราศจากสารเคมี มีโรงงานผลิตที่ได้คุณภาพ มีห้องปฏิบัติการวิจัยที่ได้มาตรฐาน และมีข้อมูลการศึกษาในมนุษย์ที่มากพอ และควรใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ รวมถึงต้องมีการตรวจการทำงานของตับและไต เป็นระยะ ๆ

สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ไม่แนะนำให้รับประทานยาสมุนไพร ซึ่งข้อมูลในปัจจุบันพบว่า ยังไม่มีสมุนไพรใดที่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนเพียงพอว่าสามารถรักษาโรคไตเรื้อรังได้

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคไตนับเป็นปัญหาของสังคมไทยสูงขึ้น ที่ผ่านมา ผู้ป่วยแสวงหาความรู้ในการรักษาโรค แต่ไปเชื่อความรู้ที่ไม่ถูกต้องจำนวนมาก เช่น ผู้ป่วย 1 คน เสียเงินจากความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับการรักษาโรคเรื้อรังเกือบล้านบาท นอกจากไม่หายแล้ว อาการยังแย่ลงด้วย ดังนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ยืนยาว อยากให้ผู้ป่วยมีความใกล้ชิดกับแพทย์เพื่อให้ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง อย่าเชื่อสื่อต่างๆ ที่ไม่ถูกต้อง


กำลังโหลดความคิดเห็น