xs
xsm
sm
md
lg

“พระสงฆ์” ไม่มีสมาร์ทการ์ดพระ มีแค่ใบสุทธิ ทำใช้สิทธิรักษา “บัตรทอง” ไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปสช.เผย “พระสงฆ์” ส่วนหนึ่งไร้บัตรประชาชนพระ มีเพียงหนังสือสุทธิ ทำเข้าไม่ถึงสิทธิรักษาบัตรทอง แนะยื่นขอบัตรประชาชน พร้อมย้ายสิทธิมา รพ.ใกล้วัด จ่อขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ 22 ส.ค.นี้

วันนี้ (16 ส.ค.) รศ.ดร.พระโสภณพัฒนบัณฑิต รองเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น และ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น กล่าวว่า พระสงฆ์ถือว่าเป็นศาสนบุคคลสำคัญของศาสนาพุทธ มีหน้าทีในการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า ดังนั้น จึงต้องมีสุขภาพดี แต่ปัจจุบันจากสถิติพบว่า พระสงฆ์ป่วยด้วยโรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคปอด เบาหวาน และโรคหัวใจ จำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการฉันอาหารหวาน มัน เค็ม เกินไป และการบริหารกายน้อย ดังนั้น เมื่อมีธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติพระสงฆ์ ปี 2560 ซึ่งมีเนื้อหาหลัก 3 ส่วน คือ การที่ให้พระสงฆ์ดูแลกันเองด้านสุขภาพ ญาติโยมจะเข้ามาดูแลพระสงฆ์ และพระสงฆ์ในฐานะผู้นำชุมชนจะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่สุขภาพดี จึงจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้พระสงฆ์มีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยวันที่ 22 ส.ค.นี้ จะมีการเวทีเปิดตัว หรือการคิกออฟการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสู่พื้นที่ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตขอนแก่น เพื่อสร้างความเข้าใจ และสื่อสารการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แก่พระสงฆ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในระดับพื้นที่ โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อพระสงฆ์อาพาธก็ต้องเข้ารับการรักษา แต่ปัญหาคือ ส่วนหนึ่งมีปัญหาการเข้าถึงสิทธิการรักษา เนื่องจากพระไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน มีเพียงหนังสือสุทธิซึ่งใช้แสดงความเป็นพระสงฆ์ ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิรักษาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองได้ เนื่องจากพระภิกษุ สามเณร จะต้องทำบัตรประชาชนโดยใช้ในทางธรรมหรือชื่อตามหนังสือสุทธิ ไม่สามารถใช้บัตรประชาชนที่เป็นชื่อนามสกุลเดิมได้ โดยการทำบัตรนั้นขอให้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของวัด และจะต้องใช้คำนำหน้านาม หรือวงเล็บชื่อตัวชื่อสกุลต่อท้ายสมณศักดิ์ กรณีเป็นพระภิกษุที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ จึงจะสามรถใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาได้ โดยสามารถไปยื่นคำขอทำบัตรประจำตัวประชาชนได้ที่ว่าการอำเภอ ซึ่งเมื่อได้รับบัตรประชาชนมาแล้วก็สามารถไปขอย้ายสิทธิบัตรทองมารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้วัดได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. โทร 1330 ทุกวัน 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ในการเข้ารับการรักษาครั้งแรก พระสงฆ์หากไม่มีบัตรประชาชนจะยังสามารถใช้สิทธิว่างได้ แต่โรงพยาบาลจะแนะนำให้ไปทำบัตรประชาชนที่เป็นชื่อพระแทน แต่หากเป็นสิทธิข้าราชการหรือประกันสังคม เนื่องจากเป็นการบวชชั่วคราว ไม่ได้เป็นอาชีพพระ จะไม่มีปัญหา ยังสามารถใช้สิทธิเดิมได้

นพ.ปรีดา กล่าวต่อว่า จากข้อมูลจำนวนและอัตราป่วย 10 อันดับโรค ผู้ป่วยใน (พระสงฆ์) ที่มารับบริการในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ปี 2559 ในพื้นที่ สปสช. เขต 7 ขอนแก่น 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และ ร้อยเอ็ด โรคที่พบมากที่สุด คือ 1.กระเพาะอาหารลำไส้อักเสบ และลำไส้ใหญ่อักเสบ 2.โรคปอด (หลอดลม) อุดกั้นเรื้อรัง 3.ปอดอักเสบ 4.โรคไตวายเรื้อรัง (ระยะที่ 5) ที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต 5.โรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด 6.โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน 7.เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน 8.ต้อกระจก 9.ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และ 10.ผิวหนังอักเสบ


กำลังโหลดความคิดเห็น