xs
xsm
sm
md
lg

สร้างมาตรฐาน “ไร่ขมิ้นชัน” คู่สัญญา อภ. ปลูกวัตถุดิบคุณภาพ สู่การผลิตยาสมุนไพรคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

เป็น “คนไทย” แต่กลัวการใช้ “สมุนไพรไทย” เพราะไม่มั่นใจในคุณภาพและประสิทธิภาพ หากจะทำให้คนไทยหันมาใช้สมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ตามนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูก ก็ต้องสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนก่อน

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ระบุว่า คนไทยเชื่อยาเคมีมากกว่าสมุนไพรเพราะมองว่าสมุนไพรเป็นของเก่า ไม่ค่อยได้ใช้และไม่มั่นใจ กลัวอันตรายตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยวที่จะปนเชื้อราหรือไม่ รวมไปถึงการผลิตมีคุณภาพหรือไม่ ดังนั้น อภ.ซึ่งมีนโยบายที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โดยเฉพาะกลุ่มยาสมุนไพรในการดูแลสุขภาพพื้นฐานของประชาชน จึงต้องสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสมนุไพรไทยเสียก่อน ว่า ตั้งแต่ต้นทาง คือ การผลิต ไปจนถึงปลายทาง คือ การผลิตเป็นยาสมุนไพรออกมานั้น ทุกขั้นตอนล้วนมีคุณภาพ มาตรฐาน และมีความปลอดภัย

นพ.โสภณ กล่าวว่า ในส่วนของการปลูกสมุนไพรที่มีคุณภาพนั้น อภ.เริ่มจาก “ขมิ้นชัน” ก่อน เนื่องจากเป็นสมุนไพรตัวแรกที่ อภ.ทำสารสกัด และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ เนื่องจากการศึกษาวิจัยทางคลินิก พบว่า “สารสกัดขมิ้นชันแคปซูล” สามารถใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันได้ โดยใช้บรรเทาอาการปวดในโรคข้อเข้าเสื่อม เพิ่มความสามารถในการใช้งานข้อของผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อ ข้อฝืดได้ไม่ต่างจากยาต้านการอักเสบไอบูโพรเฟน ไม่มีผลข้างเคียงกับระบบทางเดินอาหาร ทั้งยังช่วยให้คนเป็นเบาหวานลดการเกิดอาการเส้นเลือดแข็งตัว อภ.จึงทำสัญญาจะซื้อขาย “ขมิ้นชัน” คุณภาพร่วมกับเกษตรกร 5 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเกษตรอินทรีย์ไร่ทหารสานประชา จ.ลพบุรี 2.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมการเพาะเห็ดอินทรีย์ จ.ลพบุรี 3.วิสาหกิจชุมชนรักษ์สมุนไพร จ.ลพบุรี 4.วิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรปลูกรัก จ.ตาก และ 5.กลุ่มเกษตรกร จ.ยะลา

สำหรับการสัญญาซื้อขายขมิ้นชันนั้น นพ.โสภณ ระบุว่า จะเป็น “ขมิ้นชันตากแห้ง” ซึ่งเบื้องต้น อภ.ต้องการใช้ขมิ้นชันตากแห้งปีละ 90 ตัน โดยเกษตรกรทั้ง 5 กลุ่มจะต้องขายขมิ้นชันตากแห้งให้แก่ อภ.ปีละ 45 ตัน ในราคาตันละ 1.2 แสนบาท หรือกิโลกรัมละ 120 บาท จะทำให้เกษตรกรทั้ง 5 กลุ่มมีรายได้ต่อปีรวมราว 5.4 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 45 ตัน อภ.จะจัดซื้อตามปกติจากแหล่งปลูกขมิ้นชันคุณภาพทั่วประเทศ โดยขมิ้นชันตากแห้งจะต้องมีสารสำคัญ “เคอร์คูมินอยด์” สูงกว่าร้อยละ 9

“การทำสัญญาดังกล่าวนอกจากจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนแล้วว่า วัตถุดิบที่จะนำมาผลิตสารสกัดขมิ้นชันหรือยาสมุนไพรนั้นมีคุณภาพแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรด้วยว่า เมื่อปลูกแล้วมีตลาดรองรับแน่นอน เพราะเป็นการปลูกตามความต้องการของตลาด ไม่ใช่ปลูกแล้วขายไม่ได้ และนำมาซึ่งการขาดทุน” นพ.โสภณ กล่าว

ด้าน ภก.พิทยะ จันทร์ขาว ผู้อำนวยการฝ่ายเภสัชเคมีภัณฑ์ อภ. อธิบายถึงรายละเอียดของสัญญา ว่า สัญญาจะซื้อขายขมิ้นชันเป็นแบบราคาคงที่ไม่จำกัดปริมาณ โดยสัญญาจะครอบคลุมทั้งข้อตกลงจะซื้อขาย การรับรองคุณภาพ ที่กำหนดคุณลักษณะเฉพาะ เช่น ลักษณะภายนอกแว่นหรือท่อนต้องเป็นสีเหลืองถึงส้มปนน้ำตาล มีกลิ่นเฉพาะ ค่าดูดกลืนแสงอยู่ระหว่าง 300-500 nm ความชื้น น้อยกว่า 10.0%w/w ปริมาณสิ่งแปลกปลอม น้อยกว่า 2% w/w ปริมาณเคอร์คูมินอยด์รวมต้องมากกว่า 9% w/w รวมไปถึงรายละเอียดของการออกใบสั่งซื้อ การส่งมอบ กรส่งมอบ การตรวจรับ และการชำระเงิน ซึ่งเป็นสัญญาที่เป็นธรรมกับเกษตรกร

ภก.พิทยะ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในสัญญายังกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาด้วย โดยจะต้องเป็นเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มประชารัฐ ที่ได้รับการรับรองอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ 1.เกษตรอินทรีย์ ที่ใช้เทคนิคปลูกพืชหมุนเวียน ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก และการควบคุมสัตว์รังควานทางชีวภาพ 2.GAP หรือ Good Agriculture Practices คือ แนวทางการทำการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งตรวจรับรองโดยกรมวิชาการเกษตร หรือ 3.PGS หรือ Participatory Guarantee System คือ ระบบชุมชนรับรองซึ่งเป็นการรับรองโดยเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม

ขณะที่ พิมชญา ผาฮุย ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ไร่ทหารสานประชา จ.ลพบุรี 1 ใน 5 กลุ่มเกษตรกรที่รับการคัดเลือกให้ทำสัญญาซื้อขายขมิ้นชันกับ อภ. ระบุว่า พื้นที่ในการทำเกษตรเป็นพื้นที่ของทหาร โดยชาวบ้านจำนวน 33 ครัวเรือนขอเข้าใช้พื้นที่ทำกินครัวเรือนละ 5 ไร่ ซึ่งมีข้อกำหนดและเงื่อนไขชัดเจนว่า หากจะเข้ามาทำกินใช้พื้นที่ จะต้องทำเกษตรอินทรีย์เท่านั้น ดังนั้น ไร่ทหารสานประชาจึงทำการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์จริงๆ โดยปลูกพืชหมุนเวียน ไม่มีการใช้สารเคมี ใช้ธรรมชาติคุมธรรมชาติ อย่างขมิ้นชันก็อาศัยการไถกลบหญ้า ยกร่อง แล้วหยอดหัวขมิ้น ซึ่งในการเพาะปลูกนั้นเราจะไม่มีการถางหญ้าเลย โดยให้หญ้าเป็นพี่เลี้ยงแก่ขมิ้นชัน

หลายคนอาจมองว่าหญ้าเป็นวัชพืชที่จะมาแย่งอาหารของพืชที่เราปลูก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ หญ้าต้องการอาหารไม่มาก แต่กลับให้ประโยชน์ต่อพืชใกล้เคียงมากกว่า เพราะหญ้าเป็นทั้งพี่เลี้ยงและปุ๋ยที่ดี โดยหญ้าจะแย่งอาหารเพียง 0.0002% เท่านั้น แต่การหายใจออกของหญ้าจะแลกประจุกับพืชประธาน คายน้ำออกมามาก ทำให้เกิดความชุ่มชื่น อากาศเย็น และความชื้นสัมพัทธ์สูง จึงทำให้ขมิ้นชันมีสารเคอร์คูมินอยด์สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเติมสารเพอร์ไลท์ ซึ่งเป็นดินภูเขาไฟ ทำให้ได้สาระสำคัญสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยจะใช้เวลาประมาณ 8 เดือนจึงเก็บเกี่ยว ซึ่งขมิ้นชัน 1 ไร่ จะได้ขมิ้นชันสด 4 ตัน เมื่อนำเข้าไปในโรงอบอุณหภูมิ 60-70 องศาเซลเซียส ก็จะได้ขมิ้นชันตากแห้งรวม 1 ตัน โดยที่นี่มีการปลูกประมาณ 20 ไร่ ต้นทุนอยู่ที่ 21 บาทต่อไร่ ซึ่งการทำสัญญากับ อภ.ถือเป็นเงินปีที่ดีที่สุดในการทำไร่” พิมชญา กล่าว

เมื่อปลูกจนได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ คือ ทำสารสกัดสาระสำคัญจากพืชสมุนไพร เพื่อนำไปทำเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ ซึ่ง อภ.มีโรงงานและกระบวนการผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐาน ซึ่งกระบวนการผลิตสารสกัดจากสมุนไพร อภ.ให้ข้อมูลว่า จะเริ่มจากการเตรียมสมุนไพร แล้วจึงสกัด ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การต้มสกัดสมุนไพรระบบ 3 น้ำ การระเหยตัวทำละลายออกจากสมุนไพร เพื่อเพิ่มความเข้มข้นสารสกัด การใช้เครื่องทำแห้ง การใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวทำละลาย รวมไปถึงการกลั่น โดยจะต้องพิจารณาถึงการนำไปใช้ เช่น ใช้ภายนอกหรือภายใน สารที่ต้องการหรือไม่ต้องการต้องมีวิธีสกัดและตัวทำละลายที่เหมาะสม ขนาดของสมุนไพร เป็นต้น จากนั้นบรรจุลงภาชนะ และตรวจวิเคราะห์

แม้วัตถุดิบ การผลิต การจัดเก็บ และการขนส่งจะมีคุณภาพ จะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนได้ ก็ต้องไม่ลืมการสื่อสารถึงประสิทธิภาพของสารสกัดสมุนไพรในการมาช่วยดูแลสุขภาพที่ดีไม่ต่างจากยาเคมี ก็จะเพิ่มความมั่นใจและความเชื่อถือให้แก่สมุนไพรด้วยอีกทาง







กำลังโหลดความคิดเห็น